หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มูลนิธิสยามกัมมาจลกับการหนุนเสริม SBC School Partners

มูลนิธิสยามกัมมาจลกับการหนุนเสริม SBC School Partners[1]

          มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าร่วมดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ จากการประสานของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 องค์กรเอกชนกลุ่มแรกที่สนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐ มูลนิธิฯได้คัดเลือกโรงเรียนประชารัฐ จำนวน 50 โรงเรียน (ภาคเหนือ 6, ภาคอีสาน 17, ภาคกลางและตะวันออก 18 และภาคใต้ 9) รับสมัครพนักงานธนาคาร/ young leaders ที่สนใจ ร่วมเป็น School Partners (SP) จำนวน 29 คน มูลนิธิฯจัดบุคลากร จำนวน 5 คน ทำหน้าที่เป็น Buddy คอยหนุนเสริม SBC School Partners ตลอดการดำเนินงาน ส่วนงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุนโรงเรียนนั้น ทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้กำหนดไว้ จำนวน 15 ล้านบาท

          เป้าหมายของมูลนิธิฯ คือ การพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ มีจิตอาสา และสำนึกพลเมือง มุ่งเน้นที่การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน จากเดิมที่เป็นการบอกความรู้ไปเป็นการเรียนการสอนที่เน้นทักษะและคุณลักษณะ ให้ความสำคัญกับห้องเรียน การพัฒนาครูและผู้บริหารโรงเรียนให้เป็น Change Agent เครื่องมือสำคัญที่มูลนิธิฯใช้ในการทำงาน อาทิ Knowledge Management (KM) Professional Learning Community (PLC) มีประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษา เช่น ทำเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในโรงเรียนประมาณ 100 โรง หรือ 42 ศูนย์การเรียนรู้ ได้ฝึกนักเรียนให้เรียนรู้หลักปฏิบัติ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ไม่ท่องจำแต่ให้ทำจนเกิดเป็นทักษะ โดยจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เรียนรู้โดยใช้ Project-based Learning

          บทบาทหน้าที่หลักของ SP ในช่วงแรกของโครงการ ก็คือ การช่วยให้โรงเรียนมองเห็นจุดที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการ/ แผนพัฒนาโรงเรียนได้สำเร็จ โดยมีหลักเกณฑ์ 3 ประการ ที่ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงเสมอในการดำเนินการและพิจารณาเรื่องแผนพัฒนาโรงเรียน ประกอบด้วย
          (1) ต้องเกิดผลที่เด็ก
          (2) ต้องทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น และ
          (3) ต้องทำได้อย่างต่อเนื่องระยะยาวด้วยโรงเรียนเอง

          แผนพัฒนาโรงเรียนครั้งนี้จะไม่สนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การซื้ออุปกรณ์ การจ้างครู เช่นเดียวกับข้อตกลงร่วมขององค์กรเอกชนในโครงการสานพลังประชารัฐ แต่อาจจะให้การสนับสนุนหากมีความสำคัญจำเป็นจริงและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารโรงเรียนต้องการจ้างครูต่างประเทศ แต่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เรื่องความต่อเนื่องยั่งยืน นั่นคือ จะไม่มีงบประมาณจ้างต่อเมื่อสิ้นสุดโครงการ รวมทั้งมีความยากลำบากในการหาครูต่างประเทศที่มีคุณภาพและพร้อมที่จะมาทำงาน ณ โรงเรียน ดังนั้น จะต้องหนุนเสริมให้ SP มีกระบวนการพูดคุยให้ผู้บริหารโรงเรียนมองเห็นแนวทางที่ดีกว่า ยั่งยืนกว่า และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินงานโครงการที่มีระยะเวลา ประมาณ 8 เดือน อาทิ การใช้สื่อการสอน การพัฒนาครูประจำชั้นให้มีความมั่นใจในการสื่อสารและการสอน การจัดหาครูต่างประเทศเข้ามาฝึกครูประจำชั้นเพื่อให้ครูประจำชั้นเกิดความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ ในกรณีนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ก็อาจสนับสนุนการจ้างครูต่างประเทศได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขครูประจำชั้นทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

          นอกจาก การจัด Buddy ประกบ SP เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการลงพื้นที่แล้ว มูลนิธิฯยังได้จัด workshop ให้ SP เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความเข้าใจวิธีการทำงานกับโรงเรียน การนำข้อมูลมา AAR มีการชวนคิดเรื่อง Do and Don’t เป็นต้น นอกเหนือจาก workshop ที่จัดส่วนกลางโดยโครงการ CONNEXT ED จัดให้ (งบประมาณที่ใช้ในการจัดกิจกรรม/workshop ส่วนกลางได้มาจากการสมทบทุน องค์กรละ 1 ล้านบาท รวม 12 ล้านบาท)

          สำหรับประเด็นการศึกษาโรงเรียน เพื่อที่ SP จะใช้เป็นกรอบในการเก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจโรงเรียน มี 8 ประเด็น ดังนี้ (1) ผู้บริหาร (ความเป็นผู้นำ, การบริหารจัดการ, การเชื่อมโยงชุมชน และการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานกับครู) (2) ครู (เป้าหมายการจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ทักษะ เจตคติ/คุณลักษณะที่พึงประสงค์, การวัดประเมินผล, ความสามารถด้าน IT, ความรู้เรื่องกลยุทธในการสร้างการเรียนรู้, การออกแบบการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และสร้าง Character building, สาขาวิชาเอกที่จบการศึกษา) (3) นักเรียน (ความรู้, สมรรถนะ/ทักษะ, เจตคติ/คุณลักษณะนิสัย) (4) ชุมชน (โรงเรียนเป็นที่พึ่งของชุมชน, โรงเรียนจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน, ชุมชนสนับสนุนทรัพยากร กิจกรรมที่โรงเรียนทำร่วมกับชุมชน, ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน, คนในชุมชนเป็นครูภูมิปัญญาช่วยสอน) (5) ความร่วมมือกับภายนอก (6) หลักสูตร (7) IT และ(8) กองทุนโรงเรียนประชารัฐ

          ข้อสังเกตจากการลงพื้นที่โรงเรียนในโครงการ ที่อยู่ในการดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า มีโรงเรียนที่มีสภาพขาดผู้บริหารโรงเรียนมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว บางโรงเรียนผู้บริหารโรงเรียนจะเกษียณในปีงบประมาณที่เริ่มโครงการ ไม่มีครูครบชั้น หรือมีนักเรียนเพียง 60 คน บางโรงเรียนบุคลากรไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนประชารัฐ บางโรงเรียนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมาพัฒนาครูเพราะครูทำหน้าที่อย่างเต็มที่เต็มความสามารถแล้วควรไปพัฒนาพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบชีวิตและการเรียนรู้ของบุตรหลานบ้าง ดังนั้น ในการเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการและต้องการเห็นความก้าวหน้าในระยะเวลาที่โครงการกำหนด 8 เดือน จะต้องเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมและผู้บริหารมีความเป็นผู้นำ




          แผนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ จะจัดคู่ขนานกับกิจกรรมของโครงการ CONNEXT ED จำนวน 6 กิจกรรม ได้แก่ (1) การกำหนดผลลัพธ์และความสำเร็จของโครงการ (2) การนำเสนอข้อมูลโรงเรียนและร่วมกำหนดแนวทางพัฒนาโรงเรียน (3) การนำเสนอ Proposal เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์  (4) การนำเสนอความก้าวหน้าและสะท้อนปัญหาของ SP (5) การรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนางานของผู้บริหารโรงเรียนและ SP และ(6) การสรุปผลการดำเนินงานโครงการและการถอดบทเรียนของ SP

          การเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐครั้งนี้ ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้นำที่เป็น CEO ของแต่ละองค์กร ความร่วมมือกันของ CEO ทั้ง 12 องค์กรมาจากสายสัมพันธ์ที่มีต่อกันมายาวนาน บ้างเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเรียนด้วยกันมา ดังนั้น พนักงานของแต่ละองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนโครงการ จะพยายามร่วมมือรวมพลังกันเพื่อให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด ซึ่งทุกคนรับรู้ว่า CEO 12 องค์กรมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและคอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
-----------------------------------



[1] เรียบเรียงจากการพูดคุยกับคุณรัตนา กิติกร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559