หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ความร่วมมือของภาคเอกชนในโครงการสานพลังประชารัฐ (โรงเรียนประชารัฐ)

พิทักษ์ โสตถยาคม
นักวิชาการศึกษา สพฐ.

          การระดมพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นและผลักดันโดยผู้นำรัฐบาล ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน 12 คณะ ในนามคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ หรือคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษา (Thailand Education Transformation) มีผู้บริหารของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน รมว.ศธ.เป็นหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ มีองค์กรเอกชนเข้าร่วมในระยะแรก จำนวน 12 องค์กร ได้มีการกำหนดกรอบการทำงาน 5 ด้าน (ด้าน ICT ด้านการเรียนการสอน ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วม ด้านเทคโนโลยีแนวโน้มของโลก) ได้นำกรอบการทำงานดังกล่าวนำร่องในโรงเรียน ตำบลละ 1 โรงเรียน รวม 7,424 โรงเรียน ในเวลา 3 ปี เฟสแรกได้เลือกดำเนินการใน 3,342 โรงเรียน องค์เอกชนจะเลือกบุคลากรและพัฒนาบุคลากร (พัฒนารวมกันที่ส่วนกลาง) ก่อนไปทำงานกับโรงเรียน มีการวางระบบการหนุนเสริมให้บุคลากรที่มาทำหน้าที่เป็น School Partner (SP) ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในนามโครงการ CONNEXT ED ปัจจุบัน องค์กรเอกชนทั้ง 12 องค์กร เลือกโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุนแล้ว 1,312 โรงเรียน (ร้อยละ 39.2) และมีโรงเรียนอีก ประมาณ 60% ยังไม่มีองค์กรเอกชนรับสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังจะจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจบุคลากรของเขตพื้นที่และโรงเรียน หาแนวทางช่วยเหลือโรงเรียนให้สามารถจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนอย่างเหมาะสม และเตรียมรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมต่อไป

          ความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กรณีโครงการสานพลังประชารัฐ
ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ที่นำเสนอต่อจากนี้ สาระสำคัญส่วนใหญ่ได้มาจากการรับฟังในวาระการประชุมผู้รับผิดชอบเขตตรวจราชการ หรือ School Coordinator (SC) โครงการโรงเรียนประชารัฐ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ซึ่ง SC เป็นคณะทำงานที่ สพฐ. แต่งตั้งขึ้น เพื่อเป็นตัวเชื่อมเขตพื้นที่การศึกษาและนำสู่การขับเคลื่อนอย่างถูกทิศทางของโครงการ ทำให้ทราบถึงแนวการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ จำนวน 19 เขตตรวจราชการ เขตละ 2 คน รวม 38 คน ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมและความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น 9 ตอน ดังนี้ 
          1. แนวทางสร้างโรงเรียนดีของตำบลด้วยพลังภาคเอกชน
          2. โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาและการพัฒนาผู้นำ
          3. CONNEXT ED
          4. ICT Connectivity
          5. การใช้สื่อทรูปลูกปัญญาในโรงเรียน
          6. สภาพของโรงเรียนประชารัฐและการมีส่วนร่วมของชุมชน
          7. กรอบและแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ
          8. หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูในโรงเรียนประชารัฐ
          9. สรุปโครงการและบทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบเขตตรวจราชการ (School Coordinator)

1. แนวทางสร้างโรงเรียนดีของตำบลด้วยพลังภาคเอกชน

          รองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.พะโยม ชิณวงศ์) ได้กล่าวถึงประเภทหรือลักษณะโรงเรียน สพฐ.ในโอกาสกล่าวเปิดการประชุมว่า โรงเรียน สพฐ.มีหลายลักษณะ อาทิ (1) โรงเรียนที่มีความพร้อมสูงและเป็นที่นิยม (2) โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ โรงเรียนกีฬา (3) โรงเรียนพิเศษ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ (4) โรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษ เช่น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ สสวท. ห้องเรียนภาษา (5) โรงเรียนที่รวมกลุ่มในมิติประสิทธิภาพ เช่น กลุ่มโรงเรียนราชวินิต เตรียมอุดม เทพศิรินทร์ สวนกุหลาบ (6) โรงเรียนขนาดเล็ก (7) กลุ่มโรงเรียนที่สร้างโรงเรียนคุณภาพในชุมชน เช่น โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนแม่เหล็ก ซึ่งหลายโรงเรียนทับซ้อนกับโรงเรียนประชารัฐ แนวโน้มต่อจากนี้ โรงเรียนกลุ่มนี้เป็นหนึ่งกับโรงเรียนประชารัฐ

          โรงเรียนประชารัฐจะเป็นจุดสกัดเด็กที่จะเข้าสู่เมือง จะเป็นโรงเรียนคุณภาพที่บางโรงเรียนจะดำเนินการในรูปแบบสาธิตจุฬาฯ รูปแบบ STEM รูปแบบคุณธรรมในแนวทางของมูลนิธิยุวสถิรคุณ ระบบสื่อจะดำเนินการให้โรงเรียนโดยบริษัททรู และโรงเรียนจะมีผู้สนับสนุน (School Sponsor) เข้าไปร่วมช่วยเหลือพัฒนาด้วย สำหรับการพัฒนาในส่วนอาคารสิ่งปลูกสร้างนั้น สพฐ.จะเป็นผู้ดำเนินการช่วยแก้ไขหรือจัดสรรให้

          กลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนประชารัฐ ตำบลละ 1 โรงเรียน รวม 7,424 โรงเรียน สำหรับการดำเนินการในระยะแรกได้คัดเลือกโรงเรียนประชารัฐ จำนวน 3,342 โรงเรียน (อยู่ในสังกัด สพป. 3,104 โรงเรียน, สพม. 193 โรงเรียน, สศศ. 31 โรงเรียน, ตชด. 14 โรงเรียน) มีผู้สนับสนุน 1,312 โรงเรียน (ร้อยละ 39.2 ของโรงเรียนทั้งหมด) ทำให้โรงเรียนมี School Partner (SP) ไม่ครบทุกโรงเรียน ซึ่ง SP เป็นบุคลากรของ School Sponsor ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงโรงเรียนและองค์กรเอกชนต้นสังกัด เพื่อให้โรงเรียนได้รับการช่วยเหลือตรงกับสภาพจริงและมุ่งตรงไปที่คุณภาพการศึกษาตามที่ทุกฝ่ายต้องการ

          ความคาดหวังการดำเนินการของโรงเรียนในระยะแรกนี้ก็คือ โรงเรียนจะต้องมีแผนพัฒนาโรงเรียน ซึ่งจะเป็นลักษณะของธรรมนูญโรงเรียนหรือแผนพัฒนาโรงเรียนที่ดำเนินการเป็นปกติทุกๆ 4 ปี แต่ครั้งนี้มาทำใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากนั้น ทุกโรงเรียนจะต้องตั้ง “กองทุนโรงเรียนประชารัฐ” เพื่อเตรียมรอรับงบประมาณจากองค์กรภายนอกเพื่อการพัฒนาโรงเรียน ให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน เป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เด็กที่อยู่ในชุมชนก็จะได้เรียนในโรงเรียนดีที่อยู่ใกล้บ้าน

2. โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาและการพัฒนาผู้นำ

          เป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย สพฐ. จัดทำโครงการโรงเรียนประชารัฐ และจัดทำ MOU สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เพื่อร่วมมือรวมพลังของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาประเทศ มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ (1) เพื่อพัฒนาและยกระดับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะความเป็นผู้นำในการบริหารสถานศึกษา ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมและสัมฤทธิผลทางการศึกษา (2) เพื่อจัดทำและเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาตามหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ (3) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบ ICT เพื่อการศึกษาและการบริหารจัดการสื่อ (4) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน (Active Learning, Critical Thinking) จัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอน และการจัดทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เน้นพัฒนาจิตสาธารณะ เพื่อการบริการชุมชนและสังคม (5) เพื่อยกระดับความสามารถด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาสู่ระดับนานาชาติ โครงการดำเนินการ 3 ส่วนหลัก ได้แก่

          2.1 การปฏิรูปการศึกษาด้วยยุทธศาสตร์ 10 ด้าน เพื่อยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล ประกอบด้วย ความโปร่งใสของข้อมูลสถานศึกษา กลไกการตลาดและการมีส่วนร่วมของชุมชน การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน การยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะให้นักเรียน ศูนย์กลางการศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค การสร้างมาตรการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ รายละเอียดดังแผนภาพ



แผนภาพ ยุทธศาสตร์ 10 ด้าน ในการยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล (ที่มา: https://goo.gl/4F2b0e)

          การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้ง 10 ด้าน แบ่งเป็นคณะทำงาน 5 กลุ่มย่อย ได้แก่ (1) การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษาและการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล  (2) การพัฒนาหลักสูตรต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม  จิตสาธารณะและด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (3) การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน (4) การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของชาติ และ (5) การพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาค ในกลุ่มที่ 5 นี้ มี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร (ปตท.) เป็นผู้วางกรอบมหาวิทยาลัยเป็นเลิศด้านการวิจัย

          2.2 โครงการพัฒนาผู้นำ CONNEXT ED (School Partner Leadership Program) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 10 ด้าน สู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยองค์กรเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เป็น School Sponsor ได้คัดเลือกผู้นำในองค์กร (School Partner) เพื่อเข้าร่วมลงพื้นที่ วางแผนพัฒนาร่วมกับผู้นำโรงเรียน และนำเสนอแผนงานเพื่อขอรับการสนับสนุนจาก School Sponsor

          2.3 โครงการมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศด้านงานวิจัย (Education Hubs) เป็นการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูง 4 ด้าน ได้แก่ ด้าน Bio, ด้าน Digital, ด้าน Nano, ด้าน Robotic  มีแนวคิดจะเชื่อมกับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยให้ความสำคัญกับนักเรียนที่มีผลการเรียนเด่น 10% แรก

3. CONNEXT ED

          โครงการ CONNEXT ED หรือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Leadership Program for Sustainable Education) เป็นโครงการที่องค์กรเอกชน จำนวน 12 องค์กร ซึ่งเป็นบริษัทเริ่มต้นในการเข้าร่วมพัฒนาโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดหาคัดเลือกและพัฒนาบุคลากรที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ School Partner (SP) เข้าร่วมทำงานกับโรงเรียน โดย SP มีภารกิจในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงร่วมกับบุคลากรของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเพื่อสื่อสาร เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินบริบท และส่งเสริมผลักดันให้โรงเรียนจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนเพื่อนำเสนอต่อ School Sponsor พิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนต่อไป ซึ่ง SP จะดำเนินการ 3 ขั้นตอน ได้แก่ (1) Engage เป็นการลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จัก สร้างความเข้าใจ และให้ครอบครัวชุมชนมีส่วนร่วมหนุนเสริมโรงเรียน (2) Enable เป็นการสังเกต ศึกษา วิเคราะห์ ประเมินความสอดคล้องเป้าหมายโรงเรียนกับโครงการ และ SP เป็น Facilitator ช่วยเหลือผู้บริหารพัฒนาโรงเรียน และ (3) Enhance เป็นการร่วมวางแผนพัฒนาโรงเรียน และให้โรงเรียนนำเสนอแผนต่อ School Sponsor

          สำหรับ Clip VDO แนะนำโครงการ CONNEXT ED ดังนี้ https://goo.gl/QSgSPC

ตาราง จำนวนโรงเรียนและจังหวัดที่เอกชนร่วมมือรวมพลังพัฒนาโรงเรียน (ณ วันที่ 13 ต.ค. 2559)
ภาคเอกชน
จำนวนโรงเรียน
พื้นที่จังหวัด (จำนวนโรงเรียน)
(1) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
342
จำนวน 34 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี(3), พระนครศรีอยุธยา(21), สระบุรี(3), ตราด(6), ฉะเชิงเทรา(9), ปราจีนบุรี(3), สระแก้ว(3), สุรินทร์(3), ศรีสะเกษ(1), อุบลราชธานี(4), ชัยภูมิ(3), อำนาจเจริญ(1), ขอนแก่น(6), หนองคาย(3), เชียงใหม่(34), ลำพูน(15), ลำปาง(11), แพร่(7), น่าน(51), พะเยา(28), เชียงราย(50), แม่ฮ่องสอน(14), นครสวรรค์(3), กำแพงเพชร(8), ตาก(1), สุโขทัย(2), พิษณุโลก(4), เพชรบูรณ์(3), ราชบุรี(6), สุพรรณบุรี(3), นครปฐม(15), สมุทรสาคร(3), สุราษฎร์ธานี(9), สงขลา(6)
(2) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
42
จำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ(3), ปทุมธานี(4), ชลบุรี(10), ระยอง(2), ฉะเชิงเทรา(14), กำแพงเพชร(1), สุโขทัย(1), พิษณุโลก(1), ราชบุรี(3), สงขลา(3)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
40
จำนวน 12 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ(2), ปทุมธานี(1), พระนครศรีอยุธยา(3), สระบุรี(11), ชลบุรี(4), จันทบุรี(10), ขอนแก่น(1), ลำพูน(1), ลำปาง(1), ราชบุรี(3), กาญจนบุรี(2), นครศรีธรรมราช(1)
(4) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
212
จำนวน 33 จังหวัด ประกอบด้วย นนทบุรี(1), พระนครศรีอยุธยา(8), จันทบุรี(8), ตราด(5), ฉะเชิงเทรา(5), ปราจีนบุรี(9), สระแก้ว(17), อุบลราชธานี(13), บึงกาฬ(2), ขอนแก่น(12), หนองคาย(4), มหาสารคาม(6), สกลนคร(10), เชียงใหม่(4), อุตรดิตถ์(3), แพร่(26), เชียงราย(6), นครสวรรค์(8), อุทัยธานี(2), กำแพงเพชร(14), สุโขทัย(4), พิษณุโลก(2), พิจิตร(2), กาญจนบุรี(7), นครปฐม(4), สมุทรสาคร(3), สมุทรสงคราม(3), เพชรบุรี(9), นครศรีธรรมราช(1), ภูเก็ต(2), สุราษฎร์ธานี(8), สงขลา(1), นราธิวาส(3)
(5) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
3
จำนวน 1 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา(3)
(6) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
31
จำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วย สิงห์บุรี(4), ชัยภูมิ(3), ขอนแก่น(5), เลย(2), มหาสารคาม(3), ร้อยเอ็ด(4), กาฬสินธุ์(3), ตาก(1), ราชบุรี(1), สุพรรณบุรี(5)
(7) กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
32
จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่(3), พังงา(7), ภูเก็ต(3), ระนอง(7), ตรัง(12)
(8) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
207
จำนวน 43 จังหวัด ประกอบด้วย กทม.(10), สมุทรปราการ(2), ปทุมธานี(3), อ่างทอง(3), ลพบุรี(2), สระบุรี(1), ชลบุรี(9), ระยอง(3), จันทบุรี(3), ฉะเชิงเทรา(3), ปราจีนบุรี(1), นครนายก(1), สระแก้ว(1), บุรีรัมย์(6), สุรินทร์(6), ศรีสะเกษ(6), ชัยภูมิ(3), บึงกาฬ(1), อุดรธานี(42), เชียงใหม่(6), ลำพูน(3), ลำปาง(3), อุตรดิตถ์(3), เชียงราย(6), นครสวรรค์(6), ตาก(2), สุโขทัย(3), พิษณุโลก(3), เพชรบูรณ์(3), ราชบุรี(9), สุพรรณบุรี(3), นครปฐม(5), นครศรีธรรมราช(6), กระบี่(3), พังงา(3), ภูเก็ต(3), สุราษฎร์ธานี(3), ชุมพร(9), สงขลา(9), สตูล(3), ตรัง(3), พัทลุง(3), ตาก(1)
(9) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
50
จำนวน 29 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ(1), พระนครศรีอยุธยา(2), อ่างทอง(1), สิงห์บุรี(1), ระยอง(1), สุรินทร์(6), ศรีสะเกษ(2), ชัยภูมิ(2), อำนาจเจริญ(1), ขอนแก่น(1), หนองคาย(1), ร้อยเอ็ด(3), นครพนม(1), แพร่(1), น่าน(2), พะเยา(1), พิษณุโลก(1), เพชรบูรณ์(1), ราชบุรี(2), กาญจนบุรี(1), สุพรรณบุรี(4), นครปฐม(1), สมุทรสงคราม(3), เพชรบุรี(1), นครศรีธรรมราช(2), กระบี่(2), พังงา(1), สงขลา(3), ตรัง(1)
(10) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
30
จำนวน 4 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร(9), สมุทรสงคราม(9), เพชรบุรี(6), ประจวบคีรีขันธ์(6)
(11) บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)
128
จำนวน 24 จังหวัด ประกอบด้วย กทม.(6), สมุทรปราการ(1), นนทบุรี(11), ปทุมธานี(12), พระนครศรีอยุธยา(5), สระบุรี(5), ตราด(3), ฉะเชิงเทรา(6), บุรีรัมย์(1), ขอนแก่น(9), มหาสารคาม(3), เชียงใหม่(6), อุตรดิตถ์(3), เชียงราย(3), นครสวรรค์(7), สุโขทัย(3), ราชบุรี(3), นครปฐม(5), สมุทรสาคร(3), ประจวบคีรีขันธ์(3), นครศรีธรรมราช(9), สุราษฎร์ธานี(9), ชุมพร(6), พัทลุง(6)
(12) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
195
จำนวน 3 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา(156), บุรีรัมย์(33), ชัยภูมิ(6)
รวม
1,312


          การบอกเล่าข้อมูลล่าสุด (ณ 13 ต.ค. 2559) โดยทีมประสานงานส่วนกลาง ก็คือ คุณพุฒิพัฒน์ ทรรศนะวิเทศ เกี่ยวกับโครงการ CONNEXT ED ให้กับผู้รับผิดชอบเขตตรวจราชการ หรือ School Coordinator (SC) สาระสำคัญเกี่ยวกับโครงการมีดังนี้

          1. โครงการนี้มีผู้เกี่ยวข้องหลัก 5 ส่วน ประกอบด้วย (1) CEO ของบริษัทต่างๆ เป็น School Sponsor คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนเงินทุน กรณีแผนพัฒนาโรงเรียนได้รับการอนุมัติ (2) School Partner (SP) เป็นผู้นำรุ่นใหม่ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทเอกชนที่ร่วมโครงการ ลงไปทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ นำไปสู่การปรับแผนพัฒนาโรงเรียน (3) CONNEXT ED Facilitator เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ สร้างแรงจูงใจ ผลักดันศักยภาพของ SP (4) CONNEXT ED Officer เป็นผู้ประสานงานระหว่างบริษัทเอกชนกับภาครัฐ วิเคราะห์และรายงานข้อมูลโครงการ และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของ SP (5) School Principals & Teachers เป็นผู้นำยุทธศาสตร์มาปฏิบัติ จัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน และบริหารจัดการโรงเรียน โดยมีกรอบระยะเวลาการทำงานเฟสแรก (ก.ย.2559-ก.ค.2560) ทั้งนี้ โครงสร้างการทำงานของโครงการ มีดังนี้

แผนภาพ โครงสร้างการทำงานของโครงการ CONNEXT ED (ที่มา: https://goo.gl/PfZmxj)

            2. ความก้าวหน้า ณ เดือนตุลาคม (1) ปัจจุบันมี SP รวมทั้งสิ้น 560 คน ลงไปในโรงเรียนได้ไม่ครบทั้ง 1,312 โรงเรียน สาเหตุเพราะบริษัทเอกชนมีการกระบวนการที่เข้มข้นในการคัดเลือกคนที่จะมาเป็น SP  ต้องเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใส่ใจจริง (2) มีการดำเนินการปรับปรุงระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนแล้ว (3) ได้มี Workshop ให้ SP ครั้งที่หนึ่งในต้นเดือนกันยายน 2559 จำนวน 4 วัน เพื่อเตรียมตัวลงพื้นที่ และจะจัด Workshop ครั้งที่ 2 ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 เพื่อเรียนรู้วิธีการทำแผนพัฒนาโรงเรียนจากผู้เชี่ยวชาญ  (4) SP ได้ลงโรงเรียนบ้างแล้ว (5) โรงเรียนได้เปิดบัญชีกองทุนฯแล้ว  ซึ่งโรงเรียนจะได้รับงบประมาณ 0.5-1.0 ล้านบาท ทั้งนี้โรงเรียนจะได้รับมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาแผนงานพัฒนาโรงเรียนของแต่ละโรงเรียน

          สำหรับกิจกรรมโครงการในช่วงต่อจากนี้ไปก็คือ (1) SP ได้รับการอบรมเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน ในเดือน พ.ย. 2559 (2) โรงเรียนปรับแผนพัฒนา โดยได้รับคำปรึกษาจาก SP ในช่วงเดือน ธ.ค.2559 - ม.ค. 2560 (3) อนุมัติแผนฯ โดย ผอ.ร.ร.จะเป็นผู้นำเสนอแผนพัฒนาโรงเรียนต่อคณะกรรมการด้วยตนเอง จากนั้น ผอ.ร.ร.ปรับปรุงแผนฯ ตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ แล้วเสนอแผนฯกลับมาเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ จะไม่สนับสนุนเกี่ยวกับอาคารสิ่งก่อสร้าง สุดท้าย บริษัทเอกชนจะส่งเงินเข้าสู่บัญชีกองทุนฯเพื่อให้โรงเรียนดำเนินการตามแผนฯ (4) อบรมพัฒนา SP อย่างต่อเนื่อง อาทิ เรียนรู้เรื่องวิธีดำเนินการและการประเมินผล ในเดือน ก.พ. 2560

4. ICT Connectivity

          การติดตั้งระบบ ICT เพื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนประชารัฐ เป็นการใช้ ICT เพื่อความเท่าเทียม โดยบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะดำเนินการนำร่องแล้วเชิญชวนผู้อื่นเข้ามาร่วม โดยจะ (1) ติดตั้ง Internet Fiber และปรับปรุงเครือข่าย MOE Net ขณะนี้มีโรงเรียนประมาณ 2,000 โรงเรียนที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (2) ติดตั้งระบบ ICT เพื่อการศึกษา เป็นการติดตั้งสื่อให้กับโรงเรียน

          การดำเนินการ ณ ขณะนี้ (1) พยายามติดตั้งเสาอินเทอร์เน็ตกระจายสัญญาณถึงโรงเรียนที่ยังไม่มี Fiber ซึ่งมีอยู่ จำนวน 1,294 โรงเรียน (2) ได้ให้ทีมวิศวกรเข้าไปสำรวจและศึกษาการติดตั้ง (3) ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์ทรูปลูกปัญญา เพื่อจัดสรรให้ทุกห้องเรียน รวม 37,900 ห้องเรียน (หรือประมาณ 40,000 เซ็ท) ซึ่งจะจัดส่งถึงโรงเรียนครบ 100% ก่อนสิ้นปี 2559 โดย 200 subcontractors ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ซึ่งการจัดซื้อและติดตั้งครั้งนี้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

          สิ่งที่โรงเรียนจะได้จากทรูปลูกปัญญา (1) ได้ computer ทำเป็น server (2) มี TV/computer ทุกห้องเรียน ซึ่งจะมีสื่อ Digital (True click life) บรรจุอยู่ใน computer เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อรู้จักใช้คอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมกับช่วงวัยตั้งแต่อนุบาลถึงชั้น ม.6 มีเนื้อหา แบบฝึกหัด การประเมินของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีเกมพอเพียง (ทำโดยมหาวิทยาลัยรังสิต) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ สามารถเข้าถึงคลังความรู้จาก Website ของ True โรงเรียนจะได้รับ Package เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ (3) ได้รับการติดตั้ง Network ในโรงเรียน (4) ได้ระบบ SMATV (Satellite Master Antenna Television) มีรายการชั้นนำให้ จำลองสถานีออกอากาศ ห้องออนแอร์และสามารถบันทึกรายการได้ มี TV วงจรปิด สามารถยิงสัญญาณจาก server เข้าสู่ห้องเรียนได้ (5) ได้รับการติดตั้งระบบกล่องสัญญาณ 4 กล่อง/โรงเรียน ทำให้สามารถเลือกรับชมช่องโทรทัศน์ที่แตกต่างกันได้ และได้รับการติดตั้งระบบไฟฟ้า ขณะนี้บริษัททรูฯ เตรียมบุคลากรไว้ 250 คน เพื่อไปตรวจรับมอบงาน บริษัททรูฯ ได้ระบุว่าบริษัทมีการควบคุมการดำเนินการครั้งนี้ตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นช่างผู้ชำนาญงาน การระบุให้มีการแนะนำโรงเรียน ชุมชน พร้อมคู่มือ ทั้งนี้ จะให้โรงเรียนเป็นผู้เซ็นรับมอบชุดอุปกรณ์ที่ส่งให้โรงเรียน นอกจากนั้น ทางโครงการจะทำป้ายโรงเรียนต้นแบบประชารัฐ ระบุข้อมูลโครงการและผู้สนับสนุนติดตั้งไว้บริเวณหน้าโรงเรียน

5. การใช้สื่อทรูปลูกปัญญาในโรงเรียน

          นายวรวุฒิ ไชยศร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งปันประสบการณ์การใช้สื่อทรูปลูกปัญญาในโรงเรียน ดังนี้

          1. ปัจจุบันมีโรงเรียนที่อยู่ในโครงการทรูปลูกปัญญา จำนวน 6,000 โรงเรียน โดยให้โรงเรียนสมัคร และบริษัททำการคัดเลือกโรงเรียนเพื่อสนับสนุนสื่อทรูปลูกปัญญา จำนวน 500 โรงเรียนต่อปี โรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับสื่อจะต้องมีร่องรอยการใช้สื่อทรูปลูกปัญญา “ตู้แดง” เก็บเป็น Portfolio ตาม KPI หากโรงเรียนใดใช้สื่อทุกห้องเรียน และเป็นไปตาม KPI ที่กำหนดแล้ว จะได้รับเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบ ขณะนี้มีโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 58 โรงเรียน

          2. โรงเรียนประชารัฐ จำนวน 3,342 โรงเรียน จะได้รับสื่อทรูปลูกปัญญาทุกโรงเรียน ซึ่งบริษัทจะมีการแจ้งโปรแกรมรายการเด่นที่จะออกอากาศล่วงหน้า 1 เดือน รายการของทรูปลูกปัญญามี 50 ช่องรายการที่บูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ บริษัทมี Application โรงเรียนทรูปลูกปัญญา ทำให้ทราบข้อมูลต่างๆ ของโรงเรียน นอกจากนั้นยังเชื่อม Google map ระบุตำแหน่งที่ตั้งโรงเรียนไว้ด้วย

          3. เกณฑ์การประเมินโรงเรียนเพื่อคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบ ประกอบด้วย (1) โรงเรียนมีผล O-NET 5 วิชาหลักสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ (2) ผ่าน KPI 36 ตัว (ผู้บริหาร 20, ครู 12, นักเรียน 8) ซึ่ง KPI เหล่านี้ได้มาจากการประชุมร่วมคิดของบุคลากรของโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญาเอง โรงเรียนใดที่ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบ จะได้รับรางวัลเป็น Active Board ช่วงชั้นละ 1 แผ่น ในการประเมินโรงเรียนจะไม่แจ้งล่วงหน้า และจะสอบถามจากเด็กหลังห้องเป็นหลักเกี่ยวกับการใช้สื่อต่างๆ

          4. กระบวนการส่งเสริมการใช้สื่อทรูปลูกปัญญา มี 5 ขั้น ได้แก่ (1) ผู้บริหารและครูตระหนักเห็นความสำคัญของสื่อทรูปลูกปัญญาต่อการเรียนรู้ของนักเรียน (2) ผู้บริหารและครูมีความสนใจ (3) มีการปรับใช้สื่อ ICT ในโรงเรียน (4) มีการปฏิบัติ และ (5) มีการประเมินผล สื่อต่างๆเหล่านี้ บริษัทได้มีการวิเคราะห์การใช้สื่อ จากการค้นหาสถานการณ์ปัญหาการจัดการเรียนการสอนและการใช้สื่อของโรงเรียน นำมาจัดทำเป็นผังก้างปลา จัดทำเป็น Action Plan มีการเชิญครูมาทำ Workshop วิเคราะห์สื่อและการใช้งาน ตัวอย่างผลการประยุกต์ใช้สื่อทรูปลูกปัญญา

                   4.1 โรงเรียนบ้านปาดัง จ.สงขลา ครูจะตั้งคำถาม จำนวน 5 ข้อ เกี่ยวกับเรื่องที่นักเรียนได้ดูในช่วงพักกลางวัน เมื่อนักเรียนดูเสร็จจะตอบคำถาม หากเด็กตอบถูกทุกข้อ จะได้รับรางวัลจากครู ดูคลิปที่นี่ https://goo.gl/FKtTPi

                   4.2 โรงเรียนบ้านหนองเพรางาย จ.นนทบุรี ได้ใช้ website ของทรู ให้นักเรียนฝึกทำข้อสอบจากคลังข้อสอบของทรู จนนักเรียนมีผลการทดสอบระดับชาติอันดับ 1 ในปี 2557 ดูคลิปที่นี่ https://goo.gl/A0vUS9

                   4.3 โรงเรียนบ้านแม่คำ จ.เชียงราย ได้ใช้ True Click Life ในการสืบค้นแสวงหาความรู้ และจัดทำห้องคิง ICT ขึ้น ดูคลิปที่นี่ https://goo.gl/XPLjWI

                   4.4 โรงเรียนบ้านดอนไทรงาม จ.ชุมพร เป็นโรงเรียนต้นแบบยอดเยี่ยม มี Active Board และมีความโดดเด่นในการบริหารจัดการ ดูคลิปที่นี่ https://goo.gl/Y4QwdW

          5. การบริหารจัดการโรงเรียนต้นแบบทรูปลูกปัญญา บทบาทของผู้บริหารโรงเรียนต้องรู้ว่ามีสื่ออะไรบ้างที่มีอยู่ ทำการศึกษา มอบหมายครูให้ศึกษา อบรมครูในโรงเรียน ส่งเสริมให้ใช้สื่อในโรงเรียน ใช้ห้องออกอากาศ มอบหมายเจ้าหน้าที่ ICT เป็นผู้ดูแลสื่อ มีการนิเทศติดตามเดือนละครั้ง มีการจัดให้ครูแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้นำเสนอผลการใช้ มีการสอบสอนการใช้สื่อของครู บทบาทครูเน้นให้เด็กได้แสดงออก มี Portfolio ของตนเอง ซึ่งสื่อทรูปลูกปัญญา เป็น “ระบบง่าย ใช้เป็น เห็นผล”

6. สภาพของโรงเรียนประชารัฐและการมีส่วนร่วมของชุมชน

           นางสาวรมมุก เพียจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญโครงการทรูปลูกปัญญา บมจ. ทรูคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอผลการลงพื้นที่ 4 จังหวัด เพื่อศึกษาสภาพและการมีส่วนร่วมของโรงเรียนประชารัฐ จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านเกาะยาว จ.พังงา โรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง จ.มหาสารคาม โรงเรียนบ้านน้ำครกใหม่ จ.น่าน และโรงเรียนบ้านโป่งหวาย จ.กาญจนบุรี สิ่งที่ดำเนินการและผลที่พบ เพื่อเป็นข้อคิดสำหรับ SP ที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ดังนี้

          1. การเตรียมการก่อนเข้าโรงเรียน ทำการศึกษาข้อมูลโรงเรียน สื่อต่างๆ ในโครงการ และสื่อที่โรงเรียนจะได้รับ เตรียมขมวดสิ่งที่ต้องการเห็นจากโรงเรียน ต้อง “เอาให้อยู่” และติดต่อประสานงานกับศึกษานิเทศก์ที่ดูแลโรงเรียนเพื่อนัดหมายเข้าไปโรงเรียน ระหว่างลงโรงเรียน จับประเด็นและมองหา Project ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนและนำไปสู่ความยังยืนของการพัฒนา เยี่ยมชุมชนเพื่อจะมองเห็นมิติของการประสานพลัง หลังลงโรงเรียน จัดทำรายงาน จัดทำ VDO

          2. ลักษณะการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นแบบดั้งเดิมคือ การทอดกฐิน/ ทอดผ้าป่าการศึกษา การให้ทุนการศึกษา นานๆ ครั้งจะเข้ามาช่วยเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน เช่น ตัดหญ้า แต่เป้าหมายที่ต้องการเห็นคือ การมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษา

          3. การลงชุมชนในครั้งนี้ จะทำให้ (1) ได้เข้าใจว่าชุมชนมีความเข้าใจโครงการเพียงใด สิ่งที่พบคือ ชุมชนมีความคิดว่าจะมีบริษัทเอาเงินงบประมาณไปให้โรงเรียนในโครงการ (2) สร้าง Guideline หรือคู่มือทำงาน (3) ค้นหาโรงเรียนที่มีชุมชนร่วมพัฒนาและสามารถเป็นต้นแบบได้ (4) ให้แนวทางสำหรับ SP เพื่อเรียนรู้วิธีการดึงชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน

          4. ผลที่พบ (1) ได้ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเฉพาะของโรงเรียน สภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจ โรงเรียนใกล้เคียงในชุมชน ชีวิตความเป็นอยู่ของครูในโรงเรียน (2) เห็นจุดเด่นของโรงเรียน พบว่า ผอ.ร.ร. ทั้ง 4 โรงเรียน มีความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะ ผอ.ร.ร.บ้านโป่งหวายมีความเป็นผู้นำสูง มีความเสียสละ ทุ่มเท โรงเรียนสะอาด ใช้พลังงานหมุนเวียน ทำร้านค้าสหกรณ์ชุมชน (3) เห็นจุดด้อยของโรงเรียนต่างๆ เช่น ขาด ICT หรือหากมีคอมพิวเตอร์ก็จะเสียกว่า 50% ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี ความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำ บางโรงเรียนมีปัญหาเรื่องน้ำ โรงเรียนมีความต้องการสื่อการเรียนการสอน (ตรงกับความคาดหวังของโครงการที่จะให้ระบบ ICT, Internet, สื่อภาษาอังกฤษ และสื่ออื่นๆ)

          5. สิ่งที่ SP ควรทำ ได้แก่ (1) ทำความเข้าใจโครงการสานพลังประชารัฐ รู้ว่าประเทศต้องการอะไร เช่น ลดช่องว่าง พัฒนาคุณภาพชีวิต (2) ดึงให้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่การยัดเยียดให้ โดยให้ชุมชนเข้ามาร่วมคิด ให้คิดเองว่าอะไรมีความเหมาะสม (3) พยายามเชื่อมโยง หาจุดเชื่อมผสานกับงานด้านอื่นๆ ของประชารัฐ (4) รู้รายละเอียดของกองทุนโรงเรียนประชารัฐ เช่น การเปิดบัญชี การให้ชุมชนร่วมกับโรงเรียนในการบริหารจัดการกองทุนโรงเรียนประชารัฐ (5) ควรฉาย VDO อธิบาย 10 ยุทธศาสตร์ของโครงการสานพลังประชารัฐ ให้โรงเรียนและชุมชนได้ชม (6) ควรมีแนวคำถามเพื่อใช้พูดคุยกับชุมชน เช่น อยากเห็นโรงเรียนเป็นอย่างไร อยากเห็นลูกหลานเป็นอย่างไร ถ้าจะพัฒนาโรงเรียนร่วมกันระหว่าง ผอ.ร.ร.และชุมชนควรจะทำโครงการอะไร

          6. ตัวอย่างโครงการพัฒนาที่สามารถปรับเป็นแผนพัฒนาโรงเรียนเพื่อนำเสนอ School Sponsor เช่น โรงเรียนบ้านเกาะยาวอยากให้เด็กเก่งภาษาอังกฤษ ไม่อยากให้เป็นเพียงผู้ใช้แรงงาน อยากให้เป็นผู้จัดการ จึงอาจเป็นโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษ, โรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง ทุกบ้านทอผ้าไหม มีปัญหาเรื่องการตลาด อาจเป็นโครงการเกี่ยวกับ Social Marketing, Branding, Packaging และการสื่อสารบน ICT, โรงเรียนบ้านน้ำครกใหม่ คนในชุมชนเป็นมะเร็งมากที่สุด เพราะมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก จึงจะเปลี่ยนเป็นใช้เกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มต้นที่โรงเรียน อาจเป็นโครงการปลูกผักออแกนิกส์, โรงเรียนบ้านโป่งหวาย จะใช้พื้นที่โรงเรียนใกล้เคียงที่ถูกยุบไปแล้ว อาจเป็นโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

          7. ข้อมูลสำคัญที่พบจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า (1) ผอ.ร.ร.เวิร์คและเป็นผู้นำ (2) ครูทำงานหนักแต่ผลลัพธ์ไม่ยั่งยืน (3) ผู้แทนจากเขต/ศึกษานิเทศก์มีภารกิจมาก ไม่ได้ลงพัฒนาเชิงลึก จะ “เข้าแว๊บ” ไม่ได้นั่งฟังปัญหาหรือร่วมทำความเข้าใจชุมชนตลอดระยะเวลาที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งนี้ (4) นักเรียนมีศักยภาพ แต่ไม่ถูกใช้ศักยภาพ (5) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีประเด็นพูดคุยกันในเรื่องนมบูด การจัดสรรนมไม่ครบ และ (6) ชุมชนจะเคยชินกับการรับ ไม่ได้มีส่วนร่วมคิดอย่างจริงจัง

          8. การประสานชุมชน มีหลัก 3 ประการคือ (1) แชร์วิสัยทัศน์ร่วมกัน (2) โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน (3) รวมพลังให้ชุมชนและโรงเรียนทำงานร่วมกันให้ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ชุมชนได้มีความเข้าใจในโครงการสานพลังประชารัฐ ร่วมพัฒนาโรงเรียน ร่วมเป็นเจ้าของ (owner) และบริหารจัดการตนเองได้ ไม่ใช่การรอรับความช่วยเหลือ

7. กรอบและแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ

          สิ่งที่คณะทำงานโครงการฯ เป็นห่วงในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน ก็คือ ความคาดหวังที่ผิด เป็นความรู้สึกตั้งความหวังที่จะได้รับงบประมาณ ส่วนหนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจผ่าน SP ที่จะลงโรงเรียน ซึ่ง SP ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับการพัฒนาการเป็น Facilitator ในวันที่ 10-11 พ.ย. 2559 จะจัด workshop ให้ SP ได้เรียนรู้กรอบของ Do & Don’t ของการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน หลังจากนั้น SP จะไปชวนโรงเรียนพูดคุยเพื่อวางแผนพัฒนาโรงเรียน จากจุดที่โรงเรียนเป็น สำหรับแผนพัฒนาโรงเรียนที่ดี จะต้องเป็นรูปธรรมสู่ความยั่งยืน โรงเรียนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ได้ Outputs ที่เด็กจริงๆ มีกรอบงบประมาณ 0.5-1.0 ล้านบาท แต่ไม่ใช้งบประมาณนำการคิดวางแผน และเน้นให้โรงเรียนและชุมชนมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนของตนเอง   
         
8. หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูในโรงเรียนประชารัฐ

          นายวรวุฒิ ไชยศร ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้สรุปแนวทางการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูในโรงเรียนประชารัฐว่า หัวหน้าทีมจัดทำหลักสูตรคือ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตอาจารย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แบ่งหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารออกเป็น 7 เรื่อง และครู 6 เรื่อง ซึ่งหลักสูตรทั้งหมดได้รับการรับรองจากเลขาธิการ กพฐ. และเลขานุการ รมว.ศธ.แล้ว ได้กำหนด KPI การเรียนรู้ออนไลน์ของผู้บริหารโรงเรียนและครูไว้ว่า จะต้องเข้าเรียนออนไลน์ภายใน 15 วัน ร้อยละ 90 ของผู้อบรมตอบคำถามได้และครบทุกวิชา ร้อยละ 80 ของ ผอ.ร.ร.มีโครงการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก Sponsor ร้อยละ 80 ของครูสามารถใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอนได้ ซึ่งเนื้อหาสาระของหลักสูตรในการพัฒนาผู้บริหารและครู มีดังนี้

          8.1 หลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษา
• แนะนำหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนประชารัฐ
เอกสารเนื้อหา               - Clip VDO   
• การบริหารสถานศึกษายุคดิจิทัล (School Management in Digital Era)
• ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม (Innovative Leadership)
• กลยุทธ์การตลาดสำหรับสถานศึกษา (Strategic Marketing for Schools)
• กลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษา (Developments Strategies for Schools)
• การบริหารความเสี่ยงสำหรับสถานศึกษา (Risk Management for Schools)
• การบริหารการเปลี่ยนแปลงสู่วัฒนธรรมคุณภาพ (Managing Change Towards Quality Culture)
• กลยุทธ์การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชน (Strategies to Improve School and Community Relationships)
         
8.2 หลักสูตรครู
• แนะนำหลักสูตรครูโรงเรียนประชารัฐ
เอกสารเนื้อหา               - Clip VDO   
• ครบเครื่องเรื่องการศึกษา (Context of Modern Education)
• การบริหารจัดการชั้นเรียนยุคดิจิทัล (Classroom Management in Digital Era)
• GURU ครูมืออาชีพ(Professional Teacher)
• จากครูสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้ (From Teacher to Facilitator)
• สร้างคุณค่าในการประเมินการเรียนรู้ (Learning Appraisal Enhancement)
• การสร้างจิตสำนึกของการเป็นพลโลกที่ดี (Building Awareness to Be a Good Global Citizens)        

9. สรุปโครงการและบทบาทหน้าที่ของผู้รับผิดชอบเขตตรวจราชการ (School Coordinator)

            ดร.พิธาน พื้นทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สพฐ. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ได้สรุปโครงการสานพลังประชารัฐ และบทบาทของ SC ดังนี้

            โครงการสานพลังประชารัฐ เป็นการทำงานร่วมกัน 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สำหรับด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งเป็นคณะทำงานกลุ่มที่ 5 (E5) (E1-การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, E2-การยกระดับคุณภาพวิชาชีพ, E3-การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ, E4-การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ, E5-การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ) การดำเนินการโครงการสานพลังประชารัฐกลุ่ม E5 มี Partner จำนวน 12 บริษัท เข้ามาร่วมพัฒนาคุณภาพรายโรงเรียน ซึ่งจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา การทำงานจะมี 2 ระดับ ระดับโรงเรียน จะมีผู้ช่วยโรงเรียน ได้แก่ SP และ SM (School Mentor) ก็คือศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษา จะไปร่วมงานกับโรงเรียนในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน ทั้งในส่วนที่ใช้งบประมาณ และไม่ใช้งบประมาณ ระดับส่วนกลาง จะแบ่งออกเป็น 5 คณะ ได้แก่ ด้าน ICT ด้านการเรียนการสอน ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วม ด้านเทคโนโลยีแนวโน้มของโลก ซึ่งแต่ละคณะมีแนวคิดและการดำเนินงาน ดังนี้

                        1. ด้าน ICT จะมีการต่ออินเทอร์เน็ตถึงโรงเรียน เป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง Fiber Optic มีการหาเครื่องมือเครื่องใช้ให้โรงเรียน เช่น จอ TV คอมพิวเตอร์ จานแดง มีการจัดหา content เพื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็น Clip และสื่อจาก DLIT ฯลฯ จัดทำศูนย์ข้อมูล ฐานข้อมูลผ่านเว็บไซต์ประชารัฐ ได้แก่ http://www.pracharathschool.go.th/

                        2. ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน มุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมครูแบบใหม่ มีแนวจุฬาฯ เป็นวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบใหม่ ทั้งการอบรมครูภาษาไทยและคณิตศาสตร์ การพัฒนาภาษาอังกฤษในลักษณะ Boot Camp และมีสื่อสนับสนุน เช่น ECHO English การพัฒนาคุณธรรม ใช้แนวของมูลนิธิยุวสถิรคุณที่มีต้นแบบมาจากโรงเรียนบางมูลนาก มีการจัดฝึกอบรมโรงเรียน

                        3. ด้านการพัฒนาครูและผู้บริหาร เป็นการคิดหลักสูตรเพื่อโลกยุคใหม่ ผู้บริหาร จำนวน 7 หลักสูตร ครู จำนวน 6 หลักสูตร จะอบรมออนไลน์ เป็นการสื่อสารแบบ two-way communication ให้สมัครเรียนผ่าน TEPE online โดยที่อาจจะมีการพบพูดคุย 1 วัน ขณะนี้ได้จัดทำ VDO และ Content แล้ว และจะทำเป็น Digital ลงใน server

                        4. ด้านการสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วม เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของเอกชนและชุมชน ดังนั้นคณะนี้จะคิดค้นมาตรการจูงใจ เช่น รางวัล ส่วนลดภาษี ออกมาตรการต่างๆ ช่วยคิดว่าเมื่อดึงองค์กรภายนอกมาช่วยโรงเรียนแล้วเขาควรจะได้อะไรกลับคืนบ้าง นอกจากนั้น ยังมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อนำเสนอกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลัง ต่อไป

                        5. ด้านเทคโนโลยีระดับสูง เน้นเทคโนโลยีระดับสูง 4 ตัว ได้แก่ Bio, Digital, Nano, Robotic โดยทำงานกับมหาวิทยาลัยและเชื่อมมาถึงนักเรียนกลุ่ม Top 10% ด้วย



ตาราง รายชื่อ School Coordinators

            บทบาทของ SC จะเป็นตัวเชื่อมประสานงานกับเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ในเขตตรวจราชการ จะลงพื้นที่ไปพบปะกับผู้รับผิดชอบระดับเขตพื้นที่ อาจในรูปแบบการสัมมนา เพื่อช่วยตรวจสอบแนวทางการดำเนินการของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาว่าดำเนินการไปอย่างถูกทิศทางแล้วหรือไม่ แล้วนำไปสู่การปรับปรุง ทั้งนี้ ให้เน้นที่การเรียนการสอนเป็นหลักในการจัดการแผนพัฒนาโรงเรียน มุ่งเน้นในสิ่งที่โรงเรียนต้องการและช่วยทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น จะช่วยสื่อสารให้เกิดความเข้าใจในแนวคิดในการทำงานของศึกษานิเทศก์ ผอ.เขต และองค์กรเอกชน ควรมุ่งเน้นที่การเรียนการสอน และการช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูดีขึ้น ให้ครูสอนดี ซึ่งบอร์ดบริหารโครงการฯ ต้องการเห็นการเรียนการสอนแบบใหม่ เช่น การใช้แหล่งเรียนรู้ ให้ครูลดบทบาท ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงานและเรียนรู้ ใช้การคิดขั้นสูง ดังนั้น จะจัดให้มีการประชุม Cluster เพื่อชี้แจงผู้เกี่ยวข้องระดับเขตและโรงเรียนเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการ ในเดือนพฤศจิกายน 2559 นี้


------------------------------