หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทสรุปสุดท้ายของโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ปีงบประมาณ 2558


โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม 2557 ด้วยการสร้างความเข้าใจในเป้าหมายและแนวทางดำเนินการกับผู้บริหารโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา มุ่งหวังให้เป็นการปฏิรูปการศึกษาในระดับปฏิบัติการ เพื่อยกระดับคุณภาพด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะศตวรรษที่ 21 และคุณลักษณะความเป็นพลเมืองไทยที่ดี และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นการมุ่งเน้นที่การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน ปรับการเรียน เปลี่ยนวิธีพัฒนาครู เป็นการพัฒนาครูด้วยการสร้างระบบการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) มีมหาวิทยาลัยและมูลนิธิเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยง เน้นให้นำผลจากการปฏิบัติการสอนมาเรียนรู้ร่วมกัน หรือการติดตั้งระบบ AAR (After Action Review) เป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ปรับปรุงจากฐานโรงเรียน มีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้นำทางวิชาการ เอาใจใส่ดูแลการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างใกล้ชิด และนำข้อสังเกตที่พบจากห้องเรียน ไปสู่การปรับปรุงพัฒนาผู้เรียนและพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยมีผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ให้การส่งเสริมสนับสนุนหลัก ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 มีโรงเรียนร่วมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จำนวน 300 โรงเรียน ในพื้นที่ 20 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขตพื้นที่ละ 15 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเจาะจงเลือกเพื่อนำร่องยกระดับคุณภาพการเรียนรู้

ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในเชิงกระบวนการ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในจุดเน้นการดำเนินงาน การวางแผนงาน ตั้งทีมงาน การศึกษาดูงาน การร่วมประชุมสัมมนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ AAR การประสานร่วมมือกับทีมโค้ชภายนอกด้วยงบประมาณดำเนินการ จำนวน 220,000 – 300,000 บาท/ เขต เพื่อให้ทีมโค้ชภายนอกช่วยสร้างทีมโค้ชภายในเขตและโรงเรียนของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การนิเทศติดตามโดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและคณะทำงานของเขต จากการรายงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้สะท้อนให้เห็นว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ลดการสั่งการลง มีการกลั่นกรองงานหรือหลอมรวมงานก่อนให้โรงเรียนปฏิบัติ มีการบูรณาการงบประมาณ มีการปรับเปลี่ยนตารางสอนให้เอื้อต่อเป้าหมายของการพัฒนานักเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอน มีการพัฒนาครูที่เน้นให้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติการสอน จัดครูเก่งสอนชั้นเรียนที่มีความสำคัญ เช่น ชั้น ป.1 ให้ครูเตรียมการก่อนสอน เช่น เขียนแผนการสอนหน้าเดียว ผู้บริหารและครูตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปและทบทวนการทำงาน มองเห็นจุดที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงตนเอง ทีมงานเข้มแข็งมากขึ้นจากการพูดคุยหารือร่วมกันแก้ปัญหา มีกลไกการจัดการผลสัมฤทธิ์  บูรณาการลดชั่วโมงการสอน ติดตั้งระบบ coaching/ AAR และจากการติดตามผลการดำเนินงานโครงการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีการวางระบบสะท้อนผลหลังการสอน หรือ AAR สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาส่วนใหญ่มีการสนับสนุนด้านวิชาการและการนิเทศ ให้โรงเรียนสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น เห็นถึงความพยายามและความก้าวหน้าที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียน

มติของคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย) เป็นประธาน ให้ดำเนินการ 3 ข้อ คือ (1) ให้มีการดำเนินการต่อเนื่องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระยะที่ 1 จำนวน 20 เขต โดยให้พัฒนาคุณภาพและคงคุณภาพของโรงเรียน จำนวน 15 โรงเรียนไว้ให้ได้ และให้ขยายโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นตามกำลังและความสามารถของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเพิ่มโจทย์ของการเตรียมนักเรียนให้พร้อมเผชิญอนาคตด้านการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ มีความพร้อมและมีฝีมือในการประกอบอาชีพ ที่สอดคล้องกับช่วงวัยของนักเรียน  (2) ให้ดำเนินการระยะที่ 2 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มเป้าหมาย จำนวน 40 เขต โดยให้แต่ละเขตเลือกพัฒนาโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ยังไม่ดี เขตละอย่างน้อย 15 โรงเรียน และ (3) ให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเตรียมการวิจัยถอดบทเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ของข้อมูล/ ข้อค้นพบที่ได้มาอย่างเป็นระบบจากเขตพื้นที่และโรงเรียนในโครงการ อาทิ ความรู้ด้านชุดสมรรถนะครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ เพื่อนำไปใช้ในการขยายผลเข้าสู่ระบบให้มีผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาสมรรถนะใหม่ที่พึงประสงค์ของบุคลากรในโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงระบบการผลิตครูและพัฒนาครูทั่วประเทศต่อไป

สถานการณ์ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ชะลอการอนุมัติดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มใหม่ จำนวน 40 เขต และกลุ่มเดิม จำนวน 20 เขต มีงบประมาณส่วนที่เหลือ จำนวน 57,034,966 (ห้าสิบเจ็ดล้านสามหมื่นสี่พันเก้าร้อยหกสิบบาทถ้วน) สำนักนโยบายและแผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ สพฐ.ได้ขอกันเงินส่วนนี้ไปดำเนินการ โดยจัดสรรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 48 เขต เพื่อส่งเสริมพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการศึกษา เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 จำนวน 50,048,000 บาท (ห้าสิบล้านสี่หมื่นแปดพันบาทถ้วน)

สรุปงบประมาณสุทธิที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ตลอดปีงบประมาณ 2558 จำนวน 22,775,534 บาท (ยี่สิบสองล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันห้าร้อยสามสิบสี่บาทถ้วน) จำแนกเป็น งบประมาณที่โอนจัดสรรให้เขตพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 21,385,000 บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านสามแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) คิดเป็นร้อยละ 93.89 และงบประมาณที่ส่วนกลางใช้ดำเนินการ จำนวน 1,390,534 บาท (หนึ่งล้านสามแสนเก้าหมื่นห้าร้อยสามสิบสี่บาทถ้วน) คิดเป็นร้อยละ 6.11

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนมุ่งเน้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนรู้ การส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการตามระบบการนิเทศภายใน หรือระบบ AAR เพื่อให้ได้สะท้อนผลการปฏิบัติงานของตนเองเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนและปรับปรุงระบบดังกล่าว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ลักษณะครูและผู้เรียน รวมทั้งจุดเน้นของนโยบายการศึกษา โดยเฉพาะนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) ที่ให้ไว้ครั้งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ได้ความสำคัญกับเทคนิคการสอนและการสื่อความหมาย การลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครู เพื่อให้ครูมีเวลาทุ่มเทให้กับการสอนนักเรียนอย่างจริงจัง การประเมินเพื่อความก้าวหน้าต้องสอดคล้องกับผลการพัฒนาผู้เรียน ทั้งความรู้ คุณลักษณะ และทักษะชีวิต นอกจากนั้น ในวันที่ 23 กันยายน 2558 รมว.ศธ.ยังได้ให้แนวนโยบายแก่ผู้บริหาร สพฐ. หนึ่งในนโยบายนั้นได้เน้นการพิจารณา/ หากลไกช่วยให้ครูมีเทคนิคการเรียนการสอนที่ดีและน่าสนใจ รวมทั้งให้เน้น AAR (After Action Review) ในการทบทวนการดำเนินงานหลังจากที่ได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ไปแล้ว ดังนั้น จะเห็นว่า แนวนโยบายเอื้อให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป ในการปรับการบริหารจัดการ และปรับการเรียนการสอน ในแบบแผนที่ได้ร่วมมือรวมพลัง ริเริ่ม และพยายามพัฒนาต่อเนื่องตลอดมา จนเห็นถึงความก้าวหน้าและแนวโน้มของความสำเร็จ นั่นคือ ความก้าวหน้าด้านความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ และความสุขของผู้เรียน รวมทั้งผู้ร่วมอยู่ในชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูทุกคน
  

-----------------------------------------