การประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงาน
ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ครั้งที่ 1
วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน
2557 เวลา 13.30 น. ณ
ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ
พิทักษ์ โสตถยาคม
การประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการครั้งแรก
มีคณะทำงานเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ประธานคณะทำงาน
นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล พลเรือเอก เรืองทิพย์
เทียนทอง พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล นายอกนิษฐ์
คลังแสง นายรังสรรค์ มณีเล็ก นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ นางผานิตย์ มีสุนทร นายพิทักษ์
โสตถยาคม นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค และนางสาวรับขวัญ ธรรมาภรณ์พิลาศ
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร
นิยม ประธานคณะทำงาน แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคณะนี้ขึ้น
เพื่อติดตามงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างทันเวลาและทันเหตุการณ์
ซึ่งอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งมี 4 ประการ คือ (1) กำกับ
ติดตามงานที่เป็นนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรลุตามเป้าหมาย (2)
แนะนำ ให้ข้อเสนอแนะหน่วยปฏิบัติในการนำนโยบายไปปฏิบัติ (3) รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามนโยบายฯ
ของหน่วยงานต่างๆ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ(4) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นแจ้งวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งแรกนี้ว่า
เป็นการประชุมเชิงปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันเสนอความคิดเกี่ยวกับวิธีการทำงานของคณะทำงานติดตามฯ
ให้บรรลุผล นั่นคือ การติดตามการดำเนินงานตามนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ
ที่รับนโยบายไปปฏิบัติได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เต็มกำลังหวังความสำเร็จของนโยบาย ประธานคณะทำงานได้ให้ที่ประชุมได้ร่วมกันเสนอความคิดเกี่ยวกับวิธีการทำงานของคณะทำงานติดตามฯ
ที่ประชุมมีแนวความคิดเกี่ยวกับวิธีการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดังนี้
1.
ชี้แนะกำกับทิศ เชื่อมติดระบบเดิม คณะทำงานชุดนี้ควรทำงานในลักษณะของคณะกรรมการกำกับทิศ
ของการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการอยู่แล้ว
แต่คอยช่วยชี้แนะว่า ควรจะสังเคราะห์ข้อมูลที่องค์กรหลักส่งมาอย่างไรและรายงานผลการดำเนินงานและอุปสรรคปัญหาอย่างไร
ซึ่งจะเป็นการทำงานที่สอดคล้องกันไปกับระบบของการติดตามและรายงานผลที่มีการวางไว้ก่อนแล้ว
ตามหน้าที่ของ สป. ที่ระบุไว้ในหน้า 27 ของเอกสารนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ซึ่งมีสาระดังนี้
การขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย
๑.
นโยบายทั่วไปเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานทั้งปวงของทุกหน่วยงานและบุคลากรในสังกัดของ
ศธ.
๒.
สป. ดำเนินการทบทวนตัวชี้วัด กลยุทธ์ และแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม
ในแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๘ รองรับการดำเนินงานและการติดตาม ตรวจสอบ
และประเมินผลการปฏิบัตินโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประจำปี
(นโยบายเฉพาะและนโยบายเร่งด่วน) ออกแบบกระบวนการ กลไก และแนวทางการติดตาม
ตรวจสอบ และประเมินผล
รวมทั้งสื่อสารถ่ายทอดให้หน่วยปฏิบัติได้รับทราบทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน
เพื่อให้การนำสู่การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ให้แล้วเสร็จภายในเดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘
๓.
หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
๔.
สป. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เพื่อกรุณาทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง
และข้อเสนอแนะ ดังนี้
๔.๑
จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเฉพาะ
ในเดือนสุดท้ายทุกไตรมาสของปีงบประมาณ ๒๕๕๘
(ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค.๕๗ และ มี.ค. มิ.ย. ก.ย.๕๘)
๔.๒
จัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วน ทุกเดือนตลอด ๓
เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ (ก่อนวันจันทร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. พ.ย. และ
ธ.ค.๕๗)
๔.๓
การจัดทำรายงานและสรุปผลการปฏิบัติ ตามข้อ ๔.๑ และ ๔.๒
อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีการสั่งการให้ทราบเพื่อให้การดำเนินการเกิดความเหมาะสมต่อไป
|
ที่มา: เอกสารนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย หน้า 26-27
ซึ่งจะหยิบบางเรื่องที่สำคัญ
หรือมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
(สกศ.) กำลังทำเรื่องแนวทางการปรับโครงสร้าง อาจให้ประเด็นคำถามที่จะช่วยให้การทำงานของ
สกศ. มีความชัดเจนมากขึ้นอีก อาจตั้งคำถามว่า
เมื่อเสนอจัดโครงสร้างเช่นนี้ใครจะอยู่ส่วนไหนอย่างไร จะทำอะไรต่อไป
หรือถ้าเป็นนโยบายเร่งด่วน อาจตั้งคำถามว่า ทำอะไร อย่างไร
ผลที่สามารถจับต้องได้เป็นอย่างไร นอกจากนั้น คณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้ ควรเชื่อมการติดตามงานนโยบายกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการให้มากที่สุด
เป็นการใช้เครือข่ายการตรวจติดตามงานนโยบายตามกฎหมายให้สอดคล้องไปด้วยกัน
2. ติดตามเชิงประเด็น
มุ่งเน้นเชิงสังเคราะห์ จากคำสั่งที่มอบหมายสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานสรุปนำเรียน
รมว.ศธ.เพื่อทราบผลการปฏิบัติตามนโยบาย รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง
และข้อเสนอแนะ จะเป็นเหมือน “เงาตามตัว” ของ 10 นโยบายเร่งด่วน
จะต้องให้ข้อมูลได้ว่ามีโครงการใดบ้าง ตัวชี้วัดเป็นอย่างไร และใครทำ ซึ่งบทบาทของคณะทำงานติดตามฯ
ชุดนี้อาจติดตามเชิงประเด็นหรือ Agenda-based ซึ่งคณะทำงานติดตามฯและฝ่ายเลขานุการสามารถนำมาวิเคราะห์
สังเคราะห์ความก้าวหน้า อุปสรรค และแนวทางแก้ไข รวมทั้งประมวลให้เห็นภาพรวมได้
หรือคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้อาจทำเครื่องมือติดตามนโยบายไปให้ผู้ตรวจราชการช่วยติดตามอีกทางหนึ่งได้
๑๐ นโยบายเร่งด่วน
(ดำเนินการให้เห็นผลใน
๓ เดือน)
๑.
เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งฟื้นฟูโรงเรียน สถานศึกษา นักเรียน นักศึกษา
ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย
โดยเร็ว
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
โรงเรียน สถานศึกษา
นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟู ให้สามารถทำการเรียนการสอนได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว
๒.
เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๒.๑
มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง
๒.๒ ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป/จำนวนเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะศึกษาในช่วง
๓ เดือนลดลงอย่างชัดเจน
๓.
เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ปรับภาพลักษณ์
และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่และผู้ปกครอง
มีความยินดีและส่งเสริมให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๓.๑
มีกิจกรรมเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการศึกษาในสายอาชีพอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง
๓.๒
มีการกำหนดแผนงานหรือมาตรการเพื่อจูงใจในการเข้ารับการศึกษาสายอาชีพอาชีวศึกษา
โดยเฉพาะวิชาชีพที่ขาดแคลน และมีระบบการติดตาม ควบคุม อย่างเป็นระบบและชัดเจน
๔. ทบทวนหลักสูตร
การเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์
มีเวลาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์
รวมทั้งปลูกฝังในเรื่องค่านิยมหลัก มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างวินัย
จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม การยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
และความภาคภูมิใจในการเป็นคนไทย
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๔.๑ มีแนวทางปรับปรุงหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนากระบวนการคิด
ทักษะ ความสามารถอย่างรอบด้านทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมสติปัญญา
การปลูกฝังค่านิยม ๑๒ ประการ การเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำกิจกรรม
ฝึกปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่ละช่วงวัย และการวางพื้นฐานเพื่อการทำงาน
การศึกษาเพื่ออาชีพ
๔.๒
นำร่องรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ดี
และผลักดันกฎหมายที่จะเป็นรากฐานและกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว
๕.
เร่งพิจารณาทบทวนการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของภาครัฐและเอกชน
การช่วยเหลือค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษา
และการช่วยเหลือเด็กยากจน พิการ และด้อยโอกาส
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๕.๑
มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๕.๒
สามารถให้การอุดหนุนและการช่วยเหลือมีความเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
๖.
เร่งขยายบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา
โดยเฉพาะการจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนและการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษา
และการสนับสนุนอื่น ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๖.๑
มีแนวทางและมาตรการจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษา
๖.๒
มีการจัดทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนในการให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น
๗. เร่งปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสมเข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา
และครูสาขาขาดแคลนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๗.๑
มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
รวมถึงปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
๗.๒
สามารถปรับระบบการบรรจุครูและการรับรองมาตรฐานวิชาชีพครูให้เอื้อต่อการเพิ่มโอกาสให้มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาในระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
๘.
เร่งทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องของนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
และมาตรการติดตาม ควบคุม การลักลอบการจัดกิจกรรมรับน้องทั้งภายในและภายนอกสถาบันการศึกษา
ให้เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรง
การละเมิดและคุกคามทางเพศ รวมทั้งไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมขนบประเพณีอันดีงาม
และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบัน
การศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๘.๑
มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๘.๒
มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
๙. เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยสำหรับสถาบันการศึกษาต่าง
ๆ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา
และมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งเป็นหมู่คณะของนักเรียน นักศึกษา
ครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
โดยให้มีผลบังคับใช้ให้ทุกสถาบันการศึกษายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๙.๑
มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบและสามารถเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบได้ตามขั้นตอนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนด
๙.๒
มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนและมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐. เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาทั้งที่เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักและหน่วยสนับสนุน
ให้เห็นผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
และเป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด
เป้าหมายในการดำเนินนโยบาย
:
๑๐.๑
มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่ชัดเจน
๑๐.๒
มีการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรม
รองรับอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐.๓
มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และการรายงานผลที่มีประสิทธิภาพ
โดยสามารถรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
๑๐.๔ มีระบบการวิเคราะห์และประมวลผล
เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางลบได้อย่างรวดเร็ว
และสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
๑๐.๕
สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยต่อคณะรัฐมนตรีและสังคมได้อย่างรวดเร็ว
|
ที่มา: เอกสารนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย หน้า 17-25
3. มีข้อมูลใช้เป็นฐาน
สะท้อนงานองค์กรหลัก ที่ผ่านมาทุกยุคสมัยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ
ซึ่งความสำเร็จของนโยบายและการติดตามขึ้นอยู่ที่นโยบายเหล่านั้นมีการขับเคลื่อนที่ชัดเจนหรือไม่
ทั้งแผนการขับเคลื่อน กิจกรรมหลัก เจ้าภาพหลัก/ รองที่จะเป็นหน่วยยุทธศาสตร์
มีตัวชี้วัดและการติดตามชัดเจน มีกระบวนการติดตามเป็นระยะ
อาจรายงานด้วยเอกสารหรือผ่าน ICT แบบ formative และ
summative หรืออาจติดตามแบบเสริมแรง อย่างไรก็ตาม
จำเป็นต้องวางระบบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน การติดตามและรายงานทุกระยะ
จะต้องมีการติดตามให้ทำจริงตามแผน
ซึ่งในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักจะต้องพูดคุยกันด้วยข้อมูล
มีการส่งข้อมูลให้ศึกษาก่อนประชุม หรือสามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา ทั้งนี้
เจ้าภาพหลัก/ องค์กร จะเป็นผู้รับผิดชอบติดตามและรายงานผลตามนโยบาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีการกำหนดให้รองเลขาธิการ
ที่ปรึกษา แบ่งความรับผิดชอบนโยบายเร่งด่วนกัน โดยมีระบบกำกับติดตามรายงานผลแบบ real
time ณ ส่วนกลาง
4. ตามเรื่องที่มอบหมาย
จับต้องได้เป็นรูปธรรม ควรติดตามนโยบายที่
รมว.ศธ.ที่มอบให้องค์กรหลักไปดำเนินการในโอกาสวาระต่างๆ และการมอบหมายในที่ประชุมองค์กรหลัก
ให้ติดตามว่ามีการดำเนินการจริงหรือไม่อย่างไร ตัวอย่างประเด็นที่
รมว.ศธ.เป็นห่วงและให้เร่งดำเนินการ อาทิ การลดกิจกรรมกระทบเวลาเรียน 65 กิจกรรม
การพัฒนาครูแบบ Hotel-based Training การส่งเสริม Coaching การลดการไปดูงานต่างประเทศ
ไม่เพิ่มชั่วโมงเรียนหน้าที่พลเมือง การอุดหนุนรายหัวของอาชีวะ
การปรับโครงสร้างองค์กร ค่านิยมหลัก 12 ประการ ดังนั้น
ควรเน้นการติดตามนโยบายที่จับต้องได้ วัดผลได้ชัดเจน ถ้ามองในมุมของสื่อมวลชน/
นักข่าวจะมองการติดตามนโยบายในเชิง Activity-based จะตั้งคำถามว่ากระทรวงทำอะไรบ้าง
คำตอบจะต้องเป็นรูปธรรม อาทิ Coaching การกระจายอำนาจ 20
เขต Hotel-based Training จะผลิตและพัฒนาครูอย่างไรมาแทนครูที่จะเกษียณสองแสนคน จึงควรวิเคราะห์ว่านโยบายใดบ้าง ที่เป็นรูปธรรม
จากเอกสารเล่มนโยบาย/ นโยบายเร่งด่วน
และจากผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ/ การสั่งการพิเศษ ซึ่งสำนักงานรัฐมนตรี
(สร.) กระทรวงศึกษาธิการได้มีการสรุปประเด็นการมอบนโยบายของ รมว.ศธ.ไว้ทุกครั้ง
จึงควรนำมาให้คณะทำงานติดตามฯ ได้รับทราบ
นอกจากนั้น
ควรมีการรายงานข้อมูลจากทุกองค์กรหลัก และต้องสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการรายงาน ซึ่งในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักทุกเช้าวันพุธ
มักจะมีประเด็นข้อสั่งการเพิ่ม หรือปรับวิธีการสั่งการใหม่จากนโยบายเดิม ดังนั้น
อาจจะต้องมีผู้ติดตาม ทั้งตามนโยบายและตามปรากฏการณ์ (สั่งการพิเศษ)
โดยการออกแบบฟอร์มติดตามงาน
ส่งให้ผู้บริหารองค์กรหลักภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก
ให้แต่ละองค์กรเติมและสรุปว่า ในนโยบายที่มอบนั้นมีมาตรการอะไร มีความสำเร็จอะไร
และมีอุปสรรคอะไร หรือเป็นแบบฟอร์มที่มี 4 คอลัมน์ ประกอบด้วย
ชื่อโครงการที่ดำเนินการ สิ่งที่ดำเนินการอยู่ อุปสรรคปัญหา และผลการดำเนินงาน
5. รายงานตรงประเด็น
เป็นประโยชน์ จากการวิเคราะห์รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายที่มีการจัดทำแล้ว
จำนวน 1
ฉบับ พบว่า การรายงานดังกล่าว
มองไม่เห็นว่าอะไรคืออุปสรรคของการดำเนินงาน
หลายเรื่องยังไม่มีระบบการดูแลความคืบหน้าของการดำเนินงาน ดังนั้น
คณะทำงานชุดนี้ควรหยิบยกบางอุปสรรคปัญหามาพิจารณา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำรายงานปกติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
สป.ศธ. ให้มีการสังเคราะห์ข้อมูลมาจัดทำเป็นรายงานมีประโยชน์ต่อ รมว.ศธ. ที่แสดงให้เห็นทั้งความสำเร็จ
ปัญหาอุปสรรคและการปรับเข้าสู่เป้าหมาย รวมทั้งคณะทำงานติดตามฯ ควรเน้นการติดตามผลของนโยบาย
ระยะ 3 เดือน/ นโยบายเร่งด่วน
โดยติดตามดูว่าเป็นไปตามนโยบายจริงหรือไม่ บรรลุผลหรือไม่
แล้วจัดแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งการประชุมของคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้เป็นลักษณะ
“เวทีตามการบ้าน” จึงควรกำหนด/ บรรจุวาระที่ต้องติดตามให้ชัดเจนก่อนการประชุม ควรติดตามดูการดำเนินงานขององค์กรหลักและผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายบางเรื่องบางประเด็นที่สำคัญ
หากพบว่า หน่วยงานต่างๆ มีเอกสารรายงานที่เป็นรูปเล่ม ขอให้ฝ่ายเลขานุการจัดเก็บเล่มเอกสารไว้ใช้อ้างอิง
6. ตอบโจทย์ให้ตรงเฟส
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี รมว.ศธ.
และกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา แบ่งออกได้เป็น 6
ด้าน ได้แก่ (1) โอกาสทางการศึกษา (2) คุณภาพและสวัสดิการทางการศึกษา (3) ครูและบุคลากรทางการศึกษา
(4) การจัดการศึกษาในภาคใต้ (5) การปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการ
และ (6) การนำเสนอผลการดำเนินงานและนโยบายเร่งด่วนอื่นๆ
ซึ่งแต่ละด้านจะมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน จึงควรกำกับติดตามให้ตรงกับโจทย์ที่ตั้งไว้แต่แรก
สำหรับภาพรวมของนโยบาย รมว.ศธ. สามารถนำเสนอให้เห็นภาพรวมเป็นระยะสั้น ระยะกลาง
และระยะยาว ได้ดังนี้
ที่มา: การวิเคราะห์ของคณะทำงาน
รมว.ศธ.
7. วิเคราะห์รายงาน ดูการปฏิบัติ การกำกับดูแลการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3
แนวทาง คือ (1) การวิเคราะห์รายงาน (2)
การเยี่ยมเยือน เป็นการตรวจอย่างไม่เป็นทางการหรือการนิเทศ โดยลงไปดูภาคสนาม
และ (3) การตรวจ เป็นการกำกับติดตามอย่างเป็นทางการ
ซึ่งในบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานติดตามฯ ชุดนี้ อาจใช้การวิเคราะห์รายงาน
และการลงไปเยี่ยมเยือนดูการปฏิบัติในภาคสนาม อาทิ การติดตามโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้ให้ส่งรายงาน และลงไปตรวจดู ก็จะพบจุดที่สามารถช่วยเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงวิธีการติดตั้งและการใช้งานในระดับโรงเรียนได้
8. ประชุมคณะทำงาน ทุกวันจันทร์
07.00 น. ควรมีการกำหนดรายละเอียดการทำงานของคณะทำงานติดตามฯ
เกี่ยวกับวาระการประชุม ความถี่ของการประชุม และกำหนดนัดหมายเวลาที่จะประชุม ซึ่งควรประชุมในช่วงเวลาที่ไม่กระทบภารกิจประจำวันของคณะทำงานแต่ละคน
จึงกำหนดประชุมวันจันทร์ของทุกสัปดาห์ เวลา 07.00 - 09.00 น.
ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับวิธีการทำงานอาจให้คณะทำงานที่เป็นผู้แทนองค์กรหลักดำเนินการติดตามงานองค์กรที่สังกัดด้วยตนเองด้วย
แล้วกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะทำงานติดตามฯ และ/หรือเตรียมข้อมูลให้เลขาธิการนำไปรายงานต่อที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก
ซึ่งการรายงานความก้าวหน้าของการนำนโยบายไปปฏิบัติถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระที่ 2 ของการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักอยู่แล้ว
9. เช็คการตีความ
ตามเชิงคุณภาพ การติดตามการดำเนินงานควรดำเนินการ
(1) ติดตามเชิงประเด็นว่า มีการตีความนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างไร
มีอุปสรรคและการแก้ไขอย่างไร เน้นการติดตามรับรู้ผลในเชิงคุณภาพ แต่ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ
เชื่อมโยงกับระยะเวลา และใช้ในการวางแผนติดตาม (2) กำกับดูแลให้เกิดผลจริง
ไม่ผิดเพี้ยน และมีการช่วยแก้ไขให้ทันท่วงที (3) การรายงานผลให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ให้พูดตรงกัน และตรงเจตนารมณ์ของนโยบาย รวมทั้ง ควรรายงานข้อมูลบางประเด็นที่สำคัญให้
รมว.ศธ.ทราบล่วงหน้าก่อนประชุมผู้บริหารองค์กรหลักในทุกสัปดาห์
10. เจาะลึกประเด็นร้อนการปฏิรูป
ควรจัดลำดับความสำคัญในประเด็นที่สังคมรอคอยและจับตามอง
สาธารณชนสนใจ รัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนั้น จึงต้องจับกระแสสังคม เลือกประเด็น Hot Issue แล้วรายงานว่าสิ่งที่แต่ละองค์กรทำอยู่เป็นจำนวนมากนั้น
ได้ผลแท้จริงหรือไม่ เพียงใด ซึ่งแต่ละองค์กรหลักควรรายงานผลเข้ามายังคณะทำงานติดตามฯ
สำหรับประเด็น Hot Issue และสังคมคาดหวังคือเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา”
ควรระบุระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว อาจจำแนกเป็นด้านนโยบาย
ด้านบริหารจัดการ (หลักสูตร, การบรรจุแต่งตั้ง,..) ด้านพัฒนา การเรียนการสอน ฯลฯ ดังนั้น เรื่องสำคัญหลักๆ คือ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) ปรากฏการณ์/ปัญหาเฉพาะหน้า (3)
การผลิตและพัฒนาครู และ(4) การศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งการปฏิรูปการศึกษามีหลายเรื่อง อาทิ ICT/ Smart Classroom การผลิตครู หลักสูตร โครงสร้าง ฯลฯ
ควรเลือกบางประเด็นที่สำคัญมาติดตามในเชิงลึก
11. สังเคราะห์ข้อมูลเดิม ประมวลเติมตามประเด็น การรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
(สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมามีการรายงาน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้มีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการรายงานเข้าร่วมประชุมแนวทางการรายงาน
มีแบบฟอร์มให้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค และผู้รับผิดชอบ
เป็นการรายงานโครงการสำคัญของรัฐบาลโดยสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หรือสภาพัฒน์ เป็นผู้กำหนดแนวทางให้ว่าเรื่องใดควรติดตามและรายงานบ้าง อาทิ โครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน สำหรับการรายงานรอบต่อไปจะรายงาน ณ
สิ้นเดือนพฤศจิกายน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับผิดชอบข้อ 4 ของนโยบายรัฐบาล
สำหรับช่องทางการรายงานขององค์กรหลักในกระทรวงศึกษาธิการจะมีการรายงานผ่านเว็บไซต์มายัง
สนย. ทั้งนี้ จะขอให้ สนย. สังเคราะห์สรุปโครงการสำคัญและสถานการณ์ปัจจุบันของโครงการตามนโยบาย
รมว.ศธ. เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานติดตามฯ ในวันจันทร์
โดยจะประชุมครั้งแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 07.00 น.
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการทำงาน
กรอบการรายงาน และวันเวลานัดหมายการประชุม ดังนี้
1.
แนวทางการทำงานของคณะติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จะมุ่งเน้นกำกับทิศทางการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของนโยบาย
เกิดผลจริงเป็นรูปธรรมประจักษ์ชัด
เชื่อมโยงระบบการกำกับติดตามและรายงานผลที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และมีประโยชน์สูงสุดต่อการตัดสินใจบนฐานข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2.
ประเด็นนโยบายสำคัญที่จะติดตามการดำเนินงาน จำนวน 4 ด้าน คือ (1) การปฏิรูปการศึกษา (2) ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน (3) การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
และ (4) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอื่นๆ
ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมภายหลัง
3.
แบบฟอร์มรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เพื่อให้สังเคราะห์สรุปในแต่ละสัปดาห์
จากข้อมูลที่องค์กรหลักส่งให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ/ หรือจากข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรหลัก
ที่รวบรวมโดยคณะทำงานติดตามฯ ที่เป็นผู้แทนองค์กรหลัก หรือฝ่ายเลขานุการคณะทำงานติดตามฯ
ดังนี้
ประเด็น
|
ชื่อโครงการ
|
สิ่งที่ดำเนินการแล้ว
|
ผลการดำเนินงาน
|
อุปสรรคปัญหา
|
สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป
|
(1) การปฏิรูปการศึกษา
|
|
|
|
|
|
(2) ปรากฏการณ์ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน
|
|
|
|
|
|
(3) การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
|
|
|
|
|
|
(4) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
|
|
|
|
|
|
4.
กำหนดวัน เวลา
และสถานที่ประชุมคณะทำงานติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในทุกเช้าวันจันทร์ เวลา 07.00 - 09.00 น. ณ
ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
--------------------------------------