หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รมว.ศธ.มอบนโยบายในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก

การมอบนโยบายในโอกาสเข้ารับตำแหน่งวันแรก
ของ รมว.ศธ.คนใหม่ (นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์)
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้อง Theatre อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

ที่มาภาพ: http://www.moe.go.th/websm/minister/minister_teerakiat.htm

1. รมว.ศธ.น้อมนำพระราชกระแสฯในหลวง ร.9 และพระบรมราโชบายในหลวง ร.10 มาปรับใช้ พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ต้องการให้เด็กมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิต (อุปนิสัย) ที่มั่นคงแข็งแรง และพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแปลงเป็นนโยบาย เช่น จะแก้ปัญหาครูมุ่งทำวิทยานิพนธ์เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ปัญหาครูกั๊กวิชาไว้ไปสอนพิเศษ จะให้ครูศึกษาอบรมแบบใหม่ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ https://goo.gl/3rO0t4)

2. รมว.ศธ.จะเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) จำนวน 6 ด้าน คือ  1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (ศึกษารายละเอียดยุทธศาสตร์ชาติ ได้ที่นี่ ยุทธศาสตร์ชาติ (สรุปย่อ))

3. การแบ่งงานให้รัฐมนตรีแต่ละท่าน ดังนี้ 1) รมช.ศธ.(พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ดูแลความมั่นคง, อาชีวะ, กศน. 2) รมช.ศธ.(หมอมหลวงปนัดดา ดิศกุล) ดูแล สกศ., คกก.ลูกเสือ, ITD, เศรษฐกิจพอเพียง, กศจ., ร.ร.พระราชดำริ, ร.ร.คุณธรรม และงานประชาสัมพันธ์ของ ศธ. และ 3) รมว.ศธ.(นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์) ดูแล สป., สพฐ., สกอ., สช., คุรุสภา, กคศ., สก.สค., สสวท., ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์

4. การมอบนโยบายให้ สพฐ. รมว.ศธ.มอบให้ สพฐ.ทำโครงการปรับปรุงโรงเรียน หรือ “School Improvement Projectกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาเป็นโรงเรียน ICU ครอบคลุมทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่ (ไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนประชารัฐ) ให้แล้วเสร็จใน 5 ปี โดยลงไปดูว่าโรงเรียนขาดอะไร ครูขาดอะไร จะเพิ่มทรัพยากรอย่างไร ไม่เน้นกระดาษ ไม่เน้นการซื้ออุปกรณ์ IT ปฏิรูปโรงเรียนโดยตอบโจทย์อย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากเห็น เช่น ครูอยู่กับเด็ก ให้เด็กอยากเรียนรู้ ให้เกลียดการโกงและไม่โกง พูดภาษาอังกฤษได้  จบแล้วมีงานทำ/ เรียนต่อได้  เป็นต้น โครงการนี้จะเป็นโครงการที่มุ่งเน้น ให้ความสำคัญสูง เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และเป็นการสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเห็นกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนใน 1 ปีแรก

รายละเอียดของสาระสำคัญของการแถลงนโยบาย ฉบับเต็ม ดูที่เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ที่นี่ http://www.moe.go.th/websm/2016/dec/515.html

-----------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต: สานพลังประชารัฐและมหาวิทยาลัย

คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต: สานพลังประชารัฐและมหาวิทยาลัย
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันนี้ 24 พฤศจิกายน 2559 ผมได้รับมอบหมายจาก ดร.พิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษา สพฐ. ให้ไปเป็นวิทยากรร่วมเสวนาแทน ในการประชุมวิชาการ ปอมท. (ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย) เรื่อง “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อการศึกษาไทยในอนาคต” ณ โรงแรมนงนุช การ์เด้น รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี เมื่อวานผมจึงนั่งลำดับความคิด คิดว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง และเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้ความคิดว่า จะบอกเล่าสิ่งที่เคยได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจในการทำงานร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา จากการได้เห็นพลังของเครือข่ายอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เห็นพลังของ All for Education

ผมได้วางลำดับการนำเสนอไว้ 4 ประเด็น ดังนี้ (1) ร่วมมือรวมพลัง: ความหวังของการศึกษาใหม่ (2) คิดใหม่: เป้าหมายผู้เรียน (3) ทำใหม่: การเรียนการสอน และ(4) ทำใหม่: การบริหารจัดการ ดังนี้

1. ร่วมมือรวมพลัง: ความหวังของการศึกษาใหม่
เป็นการนำเสนอ Clip VDO โครงการ CONNEXT ED เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน VDO นี้ จะทำให้ผู้ร่วมประชุมเห็นจุดเน้นยุทธศาสตร์ใหม่ 10 ด้านของคณะทำงาน กลุ่มที่ 5 ในโครงการสานพลังประชารัฐ ของรัฐบาล ได้เห็นโอกาสที่จะร่วมส่งเสริมจินตนาการและอัจฉริยภาพของเด็กไทย เห็นความหวังใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ของการร่วมมือรวมพลังของผู้นำรุ่นใหม่  ที่ร่วมพัฒนาโรงเรียนอยู่ในขบวนของโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งก็คือ โครงการ CONNEXT ED เห็นความหวังของการช่วยทลายปัญหาอุปสรรค ความขาดแคลนขัดสน ความจนปัญญา จนเงิน จนใจของคนในพื้นที่ ซึ่งผู้ร่วมประชุมจะได้เล็งเห็นว่า ถ้าคนไทย แต่ละคน และทุกๆ คน เข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน “ปั้นสมองของชาติ” ด้วยการลงไปทำงานกับโรงเรียน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนจะได้รับโอกาสที่ดีขึ้น อนาคตของเขาก็จะดีขึ้น และประเทศไทยก็จะดีขึ้นตามลำดับ
ที่มาภาพ: https://goo.gl/S9mQBj

ดังนั้น อยากเชิญชวนประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมส่งเสริม สนับสนุนให้นิสิตนักศึกษา อาจารย์ ลงไปในพื้นที่ เข้าไปในโรงเรียน จะเป็นคุณูปการต่อวงการศึกษา เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนสู่ผู้เรียนได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม อาจเริ่มเข้าร่วมในโครงการนี้ ในกลุ่มโรงเรียน 3,342 โรงเรียน นี้ก่อน ซึ่งขณะนี้โรงเรียนยังไม่มี School Sponsor ประมาณ 60%

2. คิดใหม่: เป้าหมายผู้เรียน
เป้าหมายใหม่ที่ผู้ร่วมประชุมเห็นจาก  Clip VDO คือ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียน หรือ 3R 8C ดังนโยบายของ รมว.ศธ. (พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) เป็นสิ่งเดียวกันกับเป้าหมายผู้เรียนที่อยู่ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 หรือแผน 15 ปี ที่มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นพลเมือง (มีลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีองค์ความรู้ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะการดำรงชีวิต) มีทักษะความสามารถและสมรรถนะการปฏิบัติงานที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศ (สามารถเรียนรู้ได้ตามความถนัดความสนใจ) และดำรงชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุข (มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถปรับตัวและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมยุคพหุวัฒนธรรมที่เป็นพลวัตรในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) และเป็นสิ่งเดียวกับ Education 4.0 ที่ต้องการคนไทยที่มีทักษะ สมรรถนะ และคุณลักษณะที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย หรือ Thailand 4.0 ต้องการคนไทยที่เก่งคิด (Critical mind, Creative mind) เก่งงาน (Productive mind) และเก่งคน (Responsible mind) หรือต้องการคนไทยที่สามารถใช้ความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมได้

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าตัวอักษรที่เขียนว่าเป้าหมายผู้เรียน หรือคนไทยจะเป็นเช่นใด แต่เราตระหนักแล้วว่า เราจะต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาเพื่อผู้เรียนแบบใหม่ จะต้องเตรียมผู้เรียนให้พร้อมเผชิญปัญหา มีความสามารถและพร้อมที่จะแก้ปัญหาที่ยังมาไม่ถึง/ ยังไม่เกิดขึ้นได้

3. ทำใหม่: การเรียนการสอน
การเรียนการสอนที่คาดหวังให้ครูเปลี่ยนคือ การสอนที่เน้นปัญหา เน้นกรณีศึกษา เน้นการวิจัย เน้นโครงงาน เน้นผลิตผล ฯลฯ ซึ่ง รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี เรียกรวมว่า เป็นการสอน “ทักษะกระบวนการ” แต่การจะเปลี่ยนให้ครูประจำการ เปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก “สอน=บอกความรู้” ไปสู่ “สอน=ถาม/ให้สร้างความรู้เอง” ไม่ง่าย และไม่สามารถใช้การสั่งการได้ เพราะคนเป็นครูได้เรียนรู้วิถีความเป็นครู ไม่ใช่เพียงช่วงเรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4-5 ปีนี้เท่านั้น แต่คนเป็นครูได้เรียนรู้วิถีความเป็นครูมาตั้งแต่แรกเข้าสู่ระบบโรงเรียน บ้างเข้าสู่โรงเรียนในชั้นอนุบาล บ้างก็ชั้นประถม ซึ่งการสอนของครูส่วนใหญ่จะอยู่ในโหมด “สอน=บอกความรู้” คนเป็นครูเรียนรู้เช่นนี้มาตลอดชีวิตการเป็นนักเรียนมัธยมสู่การเป็นนิสิตนักศึกษาครูในระดับอุดมศึกษา ฉะนั้น การจะเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครูให้เป็นแบบใหม่ ที่เน้นทักษะกระบวนการ จึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงยาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้

กระบวนการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของครู ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการอบรม (Training) อย่างที่ครูเคยได้รับการอบรมพัฒนาตลอดมา เพียงอย่างเดียว การพัฒนาจะต้องเป็นกระบวนการหนุนนำครูอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ส่วน คือ (1) การจัดประสบการณ์ให้ครูได้เรียนรู้แบบลงมือทำในฐานะผู้เรียน (2) กระบวนการนิเทศอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง หรือ coaching & mentoring และ (3) การให้ครูทำงานแบบร่วมมือรวมพลังกัน ให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนผลจากการปฏิบัติร่วมกัน

นอกจากการสอนทักษะกระบวนการ ที่จำเป็นต้องหนุนเสริมให้ทำได้ทำเป็นแล้ว ยังมีเทคนิควิธีหรือหลักคิดอีกมากที่จะช่วยให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล เช่น การสืบสานพระราชดำรัส/ พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ให้ครูรักเด็กเด็กรักครู" ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น หรือการนำผลการวิจัยต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เช่น  ผลการสังเคราะห์งานวิจัยของศาสตราจารย์จอห์น แฮตตี้ พบว่า มาตรการที่ส่งผลดีมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียน อาทิ การให้นักเรียนบอกความคาดหวังและให้เกรดตนเอง การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย การอภิปรายในชั้นเรียน การเสริมสร้าง Growth Mindset ด้วยการให้ความสำคัญกับกระบวนการ (process) มากกว่าผลลัพธ์ การให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) ที่เหมาะสม การชื่นชมและให้คุณค่าที่ความพยายาม  

ดังนั้น ผู้รับผิดชอบ/ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และตัวครูเอง จะต้องตระหนักและร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง โดยน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงมาเป็นหลักและแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ หลักคิด (พระราชดำริ) หลักวิชา (ทำงานอย่างผู้รู้จริง) และหลักปฏิบัติ (ทำตามขั้นตอน) หรือ “ทำให้ง่าย เกิดประโยชน์กับประชาชนเป็นหลัก”

4. ทำใหม่: การบริหารจัดการ

การบริหารจัดการควรเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดพลังของความร่วมมือรวมพลังกัน สู่เป้าหมายร่วมหนึ่งเดียวกัน และตระหนักว่าระบบการศึกษาเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบย่อยหลายส่วน หากมุ่งแก้ไขเพียงบางจุด ย่อมก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมาก จึงต้องคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เป็นองค์รวม ดังงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม วาณิชเสนี ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นระบบใหญ่ ที่มีระบบย่อยๆ อยู่ภายใน ที่มีความซับซ้อน และเป็นพลวัตร ทุกระบบเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถแก้เป็นจุดๆ ส่วนๆ ได้ จะต้องมองให้เห็นภาพรวม และดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม สอดคล้องกับ ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่มองภาพของการปฏิรูปการศึกษาว่า ต้องทำทั้งระบบ (Whole System) ไม่ใช่การทำแก้ปัญหาแบบ “ปะชุน” (เช่น ครูไม่พอก็จ้างครูเพิ่ม เงินไม่พอก็จัดสรรเพิ่ม ขาดแคลนสื่อก็ซื้อสื่อแจก) การปฏิรูปทั้งระบบทำได้โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันกำหนดภาพความไฝ่ฝันของการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องการ เปรียบเปรยกับการสั่งตัดสูทใหม่ จะต้องออกแบบสูทที่ต้องการให้ได้ก่อน แล้วจึงส่งช่างตัดเย็บแต่ละแผนกแบ่งงานกันไปดำเนินการ มองย้อนกลับมายังระบบการศึกษา เมื่อได้ภาพเป้าหมายที่เห็นตรงกัน แล้วนำมาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหม่ จากนั้นขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมร่วมกัน หากทำเช่นนี้การพัฒนาการศึกษาจะไม่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเป็นแบบปะชุน   จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการใหม่ต้องดำเนินการทั้งระบบ พร้อมกัน ในทุกองค์ประกอบที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

การดำเนินการปรับระบบการบริหารจัดการการศึกษาของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ วิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาไทยได้ 31 ปัญหา และกำหนดเป็น 6 ยุทธศาสตร์เร่งด่วน ได้แก่ การบริหารจัดการ การผลิตและพัฒนาครู หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ การผลิตและพัฒนากำลังคนและงานวิจัย การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา และ ICT เพื่อการศึกษา แต่การขับเคลื่อนองคาพยพขนาดใหญ่ขององค์กรและบุคลากรทางการศึกษา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วอย่างที่ต้องการ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของการออกมาตรา 44 เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาในภูมิภาค มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขึ้น ดูแลเรื่องบุคคล แผนงาน และงบประมาณ มุ่งเปลี่ยนการขับเคลื่อนจากระดับ Macro (กระทรวง/ส่วนกลาง) สู่ระดับ Meso (จังหวัด) หวังให้เกิดการเปลีี่ยนแปลงระดับ Micro (โรงเรียน) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education หรือ ABE) โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ และ กศจ. กำลังทำให้ความพยายามในการเปลี่ยนผ่านนี้ประสบผลสำเร็จ

จากประสบการณ์การร่วมดำเนินการในชุดโครงการวิจัยเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตามความร่วมมือของ สพฐ.และ สกว. พบว่า สถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น สามารถเป็นแกนหลักและมีความสำคัญในการเชื่อมโยง และหลอมรวมสรรพกำลังการมีส่วนร่วมของผู้คน หน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเข้าร่วมพัฒนาโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้อย่างดีมีประสิทธิผล หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ก็คือ ความเข้มแข็ง ความเอาใจใส่ ของอาจารย์ผู้ประสานงานโครงการ หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดการกลาง ตัวอย่างโครงการที่ผมได้มีโอกาสสัมผัส/ ร่วมงาน และเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีอาจารย์ทำบทบาทของหน่วยจัดการกลางที่เข้มแข็ง มีผลการสร้างการเปลี่ยนแปลงตามจุดมุ่งหมายของการดำเนินงานครั้งนั้นๆ ได้ดี อาทิ

- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการ Coaching and Mentoring โดยคณะครุศาสตร์  
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ 8 มหาวิทยาลัย ในโครงการเพาพันธุ์ปัญญา
- มหาวิทยาลััยศรีนครินทรวิโรฒ ในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน โดยสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคณะศึกษาศาสตร์
- 15 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Local Learning Enrichment Network (LLEN)
- 9 มหาวิทยาลัย ในโครงการ Teacher Coaching

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น จะเห็นถึงพลังของสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนคณาจารย์ทุกท่านใน ปอมท. (ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย) เชิญชวนอาจารย์ นิสิตนักศึกษา เข้าไปในโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในท้องถิ่น ร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียน เด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการใช้สถานการณ์นี้ฝึกนิสิต นักศึกษา ให้มีจิตอาสา บริการชุมชนและสังคม เป็น win-win situation ทุกคนได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน จุดเริ่มต้นที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถยึดเป็นหลักคิดและแนวทางร่วมพัฒนาโรงเรียนได้อย่างดียิ่งก็คือ พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู” “ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า” “ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี” ดังนี้


ที่มาภาพ: https://goo.gl/CB7Wzn
บรรณานุกรม

เกษม วัฒนชัย. (2559). ใต้ร่มพระบารมี ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/KgVe4o
คณะผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู. (2559). ทักษะที่จำเป็นเพื่อพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/MPLqgb).
ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ.  (2559). การผลิตครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่อนาคตการศึกษาไทย.  สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/AvHYcU
ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ.  (2559). มอบนโยบายผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ.  สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/sXhPWo).
เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า. (2556).  โปรแกรมพัฒนาครูอย่างยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 255, จาก  https://goo.gl/NVJa6q
วรรณสม สีสังข์.  (2558). สสค.จับมือ สกว. ขับเคลื่อนจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้.  สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก  https://goo.gl/Z4VnFN
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ.  (2558).  อัจฉริยะหรือพรสวรรค์ ไม่สำคัญเท่า Growth Mindset. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก  https://goo.gl/TjreM1
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา.  (2559).  (ร่าง) กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/SRg84W).
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.).  (2557).  เปิดงานวิจัยโลกการจัดการเรียนการสอนคือหัวใจของการปฏิรูป. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/y8RTp1
สุธรรม วาณิชเสนี. (2558). เหลียวหลัง แลหน้า มองหาอนาคต - ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน บทเรียนจากอดีตในทศวรรษที่ผ่านมา และความเป็นไปได้สำหรับอนาคต. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/D0gfLd
สุรัฐ ศิลปอนันต์. (2559, 9 พฤศจิกายน). การปฏิรูปการศึกษาแบบ Whole System และแบบปะชุน. สัมภาษณ์โดย พิทักษ์ โสตถยาคม.
สุวิทย์ เมษินทรีย์.  (2559). เตรียมคนไทย 4.0 สู่โลกที่หนึ่ง. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559, จาก https://goo.gl/SlCoMc).
----------------------------

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สานพลังประชารัฐ: กรณีตัวอย่าง “โรงเรียนมีชัยพัฒนา”

สานพลังประชารัฐ: กรณีตัวอย่าง “โรงเรียนมีชัยพัฒนา”
พิทักษ์ โสตถยาคม

ผมได้ไปร่วมประชุมสร้างความเข้าใจผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโรงเรียนประชารัฐ เขตตรวจราชการ 3 (จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว) ในวันที่ 15-17 พ.ย. 2559 ณ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ และ อ.ดุจดาว ทิพย์มาตย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก หรือเป็น School Coordinator (SC) ของเขตตรวจราชการนี้ ผู้เข้าประชุมที่มาจากพื้นที่ ประกอบด้วย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ 2 คน/ เขต และผู้อำนวยการโรงเรียน 161 คน 


ขอบคุณภาพสวยจาก Facebook: https://www.facebook.com/yodying.thongrod

มีประเด็นหนึ่งที่ School Coordinator (SC) ต้องการให้ผู้เข้าประชุมเห็นอีกมุมมองหนึ่งของการพัฒนาโรงเรียนของคุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา โดยมอบให้ผมเป็นผู้นำเสนอ Clip VDO การบรรยายของคุณมีชัย ที่บรรยายให้กับ School Partner (SP) ฟัง ในงานประชุมของโครงการ CONNEXT ED  เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2559 ในหัวข้อ “การเรียนการสอนแบบ Child Centric: สู่เส้นทางสายใหม่ของการศึกษาไทยในชนบท” (ดูคลิปที่นี่ https://goo.gl/AHJ37E) และเชื่อมโยงสู่แนวคิดการพัฒนาโรงเรียนและการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน สาระสำคัญคุณมีชัยนำเสนอ มีดังนี้

ที่มาภาพ: https://goo.gl/eVnyYb

ภาพโรงเรียนที่ร่วมมือภาคเอกชน
·       โรงเรียนสวยงาม มีสีสัน สะดุดตา (ทาสีต้นไม้ ต้นมะพร้าว ทางเดิน พจนานุกรมทางเดิน)
·       ช่วยสร้างทักษะชีวิตและทักษะอาชีพสู่ชีวิตและการงาน
·       เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้เป็นระบบใหม่
 
ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการศึกษา อย่างน้อย 3 ด้าน
1.       ปรับปรุงสาระการเรียนรู้
2.       ปรับปรุงวิธีการสอน ต้องพัฒนาครูแนวใหม่
3.       เปลี่ยนบทบาทของโรงเรียน เชิญชวนภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยมาร่วม เปลี่ยนโรงเรียนที่สอนเฉพาะนักเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและประชาชน เป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

โรงเรียนไม้ไผ่ (มีชัยพัฒนา) เป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่นำแนวคิดประชารัฐและความร่วมมือของภาคเอกชนในการจัดการศึกษามาใช้ตั้งแต่แรก โรงเรียนเน้นทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ มีเป้าหมายเพื่อสร้างคนดี (ซื่อสัตย์ แบ่งปันเป็น บริหารจัดการเป็น ไม่ย่อท้อ รู้จักค้นคว้าหาคำตอบ ส่งเสริมความเสมอภาคชายหญิง เป็นนักพัฒนาและนักธุรกิจเพื่อสังคม) กระตุ้นไม่ให้ทิ้งบ้านเกิด นักเรียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารงานโรงเรียนโดยคณะมนตรีโรงเรียน นักเรียนทุกชั้นจะอยู่ในคณะบริหารชุดต่างๆ เช่น ต้อนรับผู้มาเยือน จัดซื้อและควบคุมงบประมาณ (เช่น ซื้อเครื่องมือเกษตร โปรเจกเตอร์ ตู้เซฟ เครื่องทำไอศกรีม รถยนต์) ตรวจสอบและต่อต้านคอรัปชั่น รักษาระเบียบวินัยและความสะอาด พัฒนาธุรกิจของนักเรียนและโรงเรียน ดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และซ่อมบำรุง การสื่อสารและเทคโนโลยี นักเรียนเป็นผู้สัมภาษณ์และคัดเลือกนักเรียนใหม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งคัดเลือกและประเมินผลครูใหม่

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z
กระตุ้นให้นักเรียนคิดนอกกรอบ อาทิ ทาสีต้นไม้ หนังสือริมทาง เคารพธงชาติหลังเลิกเรียน เครื่องผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศ การเรียนเพศศึกษาให้เด็กผู้หญิงเริ่มโดยใช้ถุงยางขัดรองเท้าสะท้อนเพศศึกษาเป็นเรื่องสะอาด โรงเรียน/หอพัก/ โดมเอนกประสงค์สร้างด้วยไม้ไผ่ จ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีและปลูกต้นไม้ ผู้ปกครองนักเรียนช่วยเหลือสังคม ฝ่ายละ 400 ชั่วโมงต่อปี และปลูกต้นไม้ฝ่ายละ 400 ต้นต่อปี นักเรียนร่วมกับสมาชิกในชุมชนทำความสะอาด หมู่บ้าน โรงเรียน และวัด นักเรียนต้องนั่งรถเข็นเดือนละ 1 วัน เพื่อให้เห็นใจและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และใช้มือที่ไม่ถนัดครึ่งวัน เขียนจดหมายสัปดาห์ละ 3 ฉบับ (ถึงบุคคลสำคัญ ผู้ปกครอง และเพื่อน) ใช้โทรศัพท์ได้ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะไม่รับประทานอาหารเย็นในทุกวันอาทิตย์เพื่อให้รู้ถึงความยากลำบากเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม มีศาลแผ่เมตตาให้คนที่มีทุกข์ที่พานพบในสังคม/หน้าหนังสือพิมพ์เพื่อฝึกให้แบ่งปัน 

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

ให้นักเรียนสอนว่ายน้ำให้เด็กจากโรงเรียนอื่น ช่วยสอนเกษตร เป็นการฝึกการสื่อความหมาย นักเรียนต้องเล่นดนตรีเป็น เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนทำธุรกิจเป็นกลุ่ม (เช่น มะนาว แคนตาลูป เมล่อน) มีกองทุนให้นักเรียนและผู้ปกครองกู้ยืม ทำแปลงผักในโรงเรียน (ปลูกผักในวงขอบซีเมนต์ ปลูกผักในเข่ง ในท่อพีวีซี ปลูกผักในต้นกล้วย ผักบุ้งในตะกร้า (1 เดือนได้ 1 กก.) โรงเรียนซื้อผักจากนักเรียน ให้นักเรียน 25% เก็บไว้ 75% เอาไว้จ่ายให้เมื่อจบ ม.6 ปลูกฝักในขวด ปลูกผักในไผ่ ปลูกมะนาวนอกฤดู แพ็คอาหารทะเลขาย เพาะเห็ดขาย ฟาร์มไก่จากพลังแสงอาทิตย์ (นักเรียนคัดไข่ขาย วันละ 1,000 ฟอง) มีเงินกู้ให้นักเรียนปีละ 5 แสนบาท ผลิตไอศกรีมขายในโรงเรียนต่างๆ และมอบกำไร 25% ให้เด็กที่ยากจนที่สุดในโรงเรียนให้โรงเรียนเป็นผู้ตัดสินเอง เลี้ยงแพะ สอนการปั้นโอ่งเก็บน้ำขาย ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เรียนรู้การสร้างหลอด LED ทำเป็นรถเข็นปั้มน้ำ ทำไฟฉาย ทำธุรกิจข้าวโรงเรียน นักเรียนฝึกอาชีพนอกสถานที่ช่วงปิดเทอม เรียนในห้องเรียน มีสอบ มีการให้คะแนน เด็กได้กี่เปอร์เซ็นต์ จะได้รับเงินเท่ากับเปอร์เซ็นต์ที่ได้ และนอกห้องเรียน ออกเก็บข้อมูลร่วมกับนักวิจัยเพื่อสำรวจคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ทำ “ปัญญานิพนธ์”

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z
มีสมาคมเครือข่ายโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย สนใจที่จะนำปรัชญาและวิธีการของโรงเรียนมีชัยพัฒนาไปใช้ โดยขอให้ช่วยโรงเรียนต่างๆ ใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านการจัดการเรียนรู้แนวใหม่เพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลาง (2) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธุรกิจของนักเรียนและสมาชิกในชุมชน และ (3) นำความรู้ด้านธุรกิจสู่ชุมชนและปรับเปลี่ยนโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีพในทุกด้านแก่ชุมชน จึงทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชนและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของคนในชุมชน ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนและสมาชิกในชุมชนที่อยู่รอบโรงเรียน ช่วยจัดตั้งแปลงเกษตรเพื่อขจัดความยากจนของโรงเรียนควบคู่ไปกับกิจกรรมอื่นๆ ในลักษณะของวิสาหกิจ (ธุรกิจ) เพื่อสังคม ขณะนี้ดำเนินการในโรงเรียนต่างๆ แล้ว 99 โรงเรียนมีการติดตามทุกเดือน ชุมชนรอบโรงเรียนเข้ามีส่วนร่วม มีส่วนสำคัญ เป็นการสร้างความสามัคคีที่เน้นด้านการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงน้อย เหมาะกับผู้สูงอายุและคนพิการ มีกองทุนให้นักเรียนกู้แต่ต้องออมก่อน นักเรียนสนุกจากการเรียนมาก ผู้ปกครองกู้ได้แต่ต้องมีหลักฐาน ส่งเสริมแปรงฟัน 3 ครั้งต่อวัน เน้นว่าโรงเรียน นักเรียน และชุมชนไม่ควรได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (ฟรี) แต่ควรร่วมโครงการด้วยการช่วยเหลือสังคม สิ่งแวดล้อม และปลูกป่า (จ่ายด้วยน้ำใจ) ทำความสะอาดชุมชน ปลูกป่าเพื่อแลกกับเงินทุนช่วยเหลือจากบริษัท 100 บาทต่อต้น

ที่มาภาพ: https://goo.gl/b1Z70z

โรงเรียนมีชัยพัฒนายังได้ขยายความช่วยเหลือไปสู่หน่วยงาน/ สถาบันในชุมชนต่างๆ โดยไปช่วยตั้งฟาร์มเกษตรธุรกิจเพื่อสังคมในหน่วยงานนั้นๆ เช่น โรงพยาบาลตำบล โครงการธุรกิจเพื่อสังคมในเรือนจำขนาดเล็ก ช่วยเหลือครอบครัวนักโทษให้มีรายได้ โครงการธุรกิจเพื่อสังคมในสถานีตำรวจ ในวัด  

นอกจากนั้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนายังมีข้อเสนอเพื่อปฏิวัติการศึกษาไทย จำนวน 9 ประการ ดังนี้
1)      ขอให้พนักงานในทุกบริษัทและรัฐวิสาหกิจออกเยี่ยมเยียนโรงเรียนเพื่อทำความรู้จักกับนักเรียนและครู และเตรียมให้ความร่วมมือ ในที่สุดทุกบริษัทจะมีความสัมพันธ์กับโรงเรียน
2)      บริษัทเสนอความเห็นและเริ่มลงมือช่วยเหลือโรงเรียน โดยพนักงานบริษัทมีความรู้สึกร่วมเป็นครูกิตติมศักดิ์และ ผอ.กิตติมศักดิ์
3)      เปิดโอกาสให้เอกชนบริจาคเงินผ่านธนาคาร และให้ธนาคารเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้
4)      สนับสนุนการอบรมพัฒนาทักษะครูเพื่อให้เป็นครูเอนกประสงค์ ไม่ใช่ครูคณิตศาสตร์ที่สนใจดนตรี ทำเกษตรเป็น ทำหลายอย่างเป็นด้วย
5)      ช่วยจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่โรงเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธุรกิจ ให้นักเรียนรู้ธุรกิจ เพราะเป็นเส้นทางเดียวที่จะให้คนพ้นความยากจน
6)      ผลักดันให้เกิดโครงการ “ปลูกป่าล้างหนี้” อาจสอนน้องเพื่อล้างหนี้ สำหรับผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. และยังไม่มีเงินใช้หนี้ ส่วนนักเรียนประถมและมัธยมปลูกป่าสร้างเครดิตเพื่อสะสมเงินเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
7)      จ้างครูที่เป็นพนักงานของบริษัทเพื่อสอนนักเรียนตามโรงเรียนในชนบท
8)      จัดตั้งห้องเรียนเตรียมอนาคตในโรงเรียน เช่น เตรียมครู เตรียมพยาบาล ธุรกิจ ค้าขาย เกษตร ท่องเที่ยวการโรงแรม การบริหารจัดการ การบัญชี/การเงิน  สื่อวิทยุโทรทัศน์ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน IT Logistics เพราะขณะนี้มีโรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี โรงเรียนทหารแล้ว
9)      สร้างโรงเรียน พร้อมจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม โรงเรียนเตรียมอนาคต

กล่าวโดยสรุป คุณมีชัย วีระไวทยะ เน้นว่าระบบการศึกษาและการพัฒนาของประเทศไทย จำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งสร้างคนดี ควรทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน

-----------------------

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กรณีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา

ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน: กรณีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา  [1]
พิทักษ์ โสตถยาคม

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเกิดจากแนวความคิดของคุณกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ได้เรียนรู้จากชีวิตตนเอง จากเด็กที่ไม่เคยเล่าเรียน แต่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เพราะได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่ดี  จึงต้องการให้เด็กไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เริ่มคัดเลือกและให้การสนับสนุนโรงเรียนชนบทที่ขาดแคลนแห่งแรก ในปี 2512 คือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 1 จังหวัดลพบุรี โรงเรียนล่าสุดคือ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 101 จ.ร้อยเอ็ด ปัจจุบันมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จำนวน 101 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนสังกัด สพป. 99 แห่ง สพม. 1 แห่ง และ อปท. 1 แห่ง เดิมโรงเรียนไทยรัฐวิทยามีอยู่ทุกจังหวัด แต่เมื่อจังหวัดบึงกาฬแยกออกจากจังหวัดหนองคาย โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจึงอยู่ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ทำให้จังหวัดหนองคายไม่มีโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ขณะนี้มีแผนการที่จะทยอยสนับสนุนโรงเรียนอีก 10 แห่ง ในโอกาสฉลองครบ 100 ชาตกาล “กำพล วัชรพล” ภายในปี 2562 ซึ่งโรงเรียน 1 ใน 10 แห่งนั้น จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดหนองคาย

ที่มาภาพ: http://www.thairath-found.or.th/

โรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้รับการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือจากมูลนิธิไทยรัฐอย่างเป็นระบบต่อเนื่องตลอดมา นับจากตั้งมูลนิธิไทยรัฐในปี 2522 ปัจจุบันอยู่ในช่วงเริ่มต้นของแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2559-2562) ยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะมีโครงการ 2 ด้าน 10 โครงการ ดังนี้ (1) โครงการด้านการจัดการเรียนรู้ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โครงการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด โครงการพัฒนาบุคลากรเชิงปฏิบัติการ และโครงการประกวดโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และนักเรียน (2) โครงการด้านส่งเสริมเอกลักษณ์ของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 โครงการ ได้แก่ โครงการเอกลักษณ์ไทย โครงการคนดีศรีไทยรัฐ โครงการเอกลักษณ์ความเป็นโรงเรียนไทยรัฐวิทยา โครงการหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา โครงการภาพแห่งความสำเร็จ และโครงการความเป็นพลเมืองดี สำหรับการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ในแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จะอิงมาตรฐานและตัวชี้วัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มูลนิธิฯจะสนับสนุนคู่มือ/แผนการจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โครงการเด่น ได้แก่ (1) โครงการหลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา จะบูรณาการทุกกลุ่มสาระ และ(2) โครงการความเป็นพลเมืองดี จะอิงวิชาหน้าที่พลเมืองของ สพฐ.

ที่มาภาพ: http://www.thairath-found.or.th/planning4/

การทำงานร่วมกันของ สพฐ. และมูลนิธิไทยรัฐ ในแต่ละแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา จะเริ่มด้วยการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเลขาธิการ กพฐ. กับประธานมูลนิธิ ซึ่งแผนฯ 4 ได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2559 ในงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ครั้งที่ 35 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กรอบของ สพฐ.จะติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน 101 แห่ง การวิเคราะห์ผลการทดสอบระดับชาติ การร่วมจัดสัมมนาผู้บริหารโรงเรียน การจัดมหกรรมภาพแห่งความสำเร็จของกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และการจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานมูลนิธิไทยรัฐและ สพฐ. ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการนี้ สพฐ.เป็นผู้ตั้งขึ้น ส่วนมูลนิธิไทยรัฐจะสนับสนุนด้านวิชาการ สื่อวัสดุอุปกรณ์การศึกษา อาคารสถานที่ และงบประมาณ โดยมูลนิธิจัดสรรให้ตามความจำเป็น รวมทั้งให้โรงเรียนจัดทำแผนงานโครงการเสนอไปยังมูลนิธิ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนทุกโรงเรียน งบประมาณของมูลนิธิฯ ที่ใช้ในการสนับสนุนโรงเรียน มาจากดอกผลของเงินมูลนิธิฯ ปีหนึ่งๆ จะได้ประมาณ 50 ล้านบาท

ที่มาภาพ: http://www.thairath-found.or.th/opening-ceremony/

ที่ผ่านมามูลนิธิไทยรัฐได้ให้การสนับสนุนโรงเรียน ด้านวิชาการ (การพัฒนาบุคลากร การจ้างครู การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูและนักเรียน การส่งเสริมเอกลักษณ์ของโรงเรียน) ด้านสื่อวัสดุอุปกรณ์การศึกษา ด้านอาคารสถานที่ (ห้องสมุด, การก่อสร้างปรับปรุงอาคารเรียน/อาคารอเนกประสงค์, ห้องสมุด, โรงอาหาร, สุขา, ระบบไฟฟ้า, ภูมิทัศน์, ถนน, รั้ว) และด้านงบประมาณ (งบประมาณพัฒนาโรงเรียน, ทุนอาหารกลางวัน, ทุนการศึกษา) สรุปงบประมาณที่มูลนิธิไทยรัฐให้การสนับสนุนโรงเรียน ในช่วงปี 2551-2557 รวม 311.07 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 44.44 ล้านบาท (น้อยที่สุด 37.5 ล้านบาท และมากที่สุด 53.02 ล้านบาท) นอกจากนั้น บริษัท วัชรพล จำกัด ได้บริจาคที่ดินให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ 9.5 ไร่ มูลค่า ประมาณ 15.43 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่สร้างอาคารเรียนโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา และบริจาคเงินสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมและห้องปฏิบัติการต่างๆ จำนวน 25 ล้านบาท ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสร้างอาคารเรียนอีก จำนวน 33.5 ล้านบาท เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ที่มาภาพ: https://goo.gl/crKUEw

สำหรับกิจกรรมที่ดำเนินการในปีการศึกษา 2558 อาทิ
1) โครงการภาพแห่งความสำเร็จ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานให้เห็นศักยภาพของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาโดยองค์รวม ได้แก่ ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านเอกลักษณ์ไทย และด้านความเป็นโรงเรียนไทยรัฐวิทยา  งานมหกรรมภาพแห่งความสำเร็จของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคกลางและตะวันออก (เป็น 1 ใน 4 ภาค ที่มีการจัดงาน) มีกิจกรรมแข่งขันทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระ มีความจริงจัง เข้มข้น ส่วนภาคกลางคืนเป็นการแสดงเอกลักษณ์ไทยของครูและนักเรียน การจัดงานครั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "มหกรรมภาพแห่งความสำเร็จ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ภาคกลาง-ภาคตะวันออก" ปีการศึกษา 2558 ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ ดังนี้ https://goo.gl/1ATUW9 โครงการภาพแห่งความสำเร็จนี้เดิมจัดปลายปีการศึกษาทุกปีการศึกษา แต่ในแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2559-2562) จะจัดปีเว้นปี
 
ที่มาภาพ: https://goo.gl/84EZ1a

2) การอบรมพัฒนาครู 4 ภาค จะจัดปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ในช่วงปิดภาคเรียน จำนวน 4 จุด/ภาค หัวข้อเรื่องการอบรมพัฒนาจะมาจากการเสนอของครูและผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่มีการแบ่งตามพื้นที่/ลุ่มน้ำ มี 13 กลุ่ม นอกจากนั้น การตั้งเป็นกลุ่มโรงเรียน ภาคละ 3-4 กลุ่ม ก็เพื่อพัฒนางานด้านการบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3) การสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ “ไทยรัฐวิทยา โรงเรียนประชารัฐ” และพิธีลงนาม MOU ระหว่างมูลนิธิไทยรัฐกับ สพฐ. เพื่อร่วมกันดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2559-2562) ในเดือนกรกฎาคม 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ) เป็นประธาน ดังนี้ https://goo.gl/WNWaVS และได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญของกระทรวงในงานนี้ ดังนี้ https://goo.gl/tpGz3D

ที่มาภาพ: http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html

4) โครงการประกวดโรงเรียน ผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา จะประเมินตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมิน ตามคู่มือการประเมินโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น และจะมอบรางวัลในวันเกิดของคุณกำพล วัชรพล ในวันที่ 27 ธันวาคม ของทุกปี

5) โครงการต้นแบบไทยรัฐวิทยา ในระยะแรกคัดเลือกโรงเรียนเพียง 5 แห่ง ภาคละ 1 แห่ง ได้แก่ ได้แก่ (1) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 (บ้านห้วยโจด) จ.สระแก้ว (2) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 เฉลิมพระเกียรติ จ.กรุงเทพฯ (3) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 (บ้านเอก) จ.เชียงใหม่ (4) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 87 (นิคมสร้างตนเอง 1) จ.อุบลราชธานี และ(5) โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 40 (บ้านควนโพธิ์) จ.สตูล โดยคณะกรรมการประเมินที่แต่งตั้งโดย สพฐ. และจะประเมินให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560

ที่มาภาพ: http://www.obec.go.th/news/68497

เสียงสะท้อนภาพความมุ่งมั่นของมูลนิธิไทยรัฐในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน จากอาจารย์รัตนา ยศบุญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพฐ. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการประสานงานมูลนิธิไทยรัฐวิทยาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า มูลนิธิไทยรัฐได้มุ่งช่วยเหลือโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่อยู่ในชนบทห่างไกล ที่มีความขาดแคลน อย่างแท้จริง โดยไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากโรงเรียนในเชิงธุรกิจ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ จำนวน 4-5 คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจงานสูง เพราะเป็นครูและศึกษานิเทศก์แกนนำ/โดดเด่นในการพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และเกษียณอายุราชการแล้ว เมื่อคณะทำงานได้กำหนดแผนงาน ปฏิทินการปฏิบัติงานการส่งเสริมพัฒนาโรงเรียนแล้ว จะดำเนินการตามแผนงานอย่างเคร่งครัด ทำให้งานการพัฒนาโรงเรียนขับเคลื่อนไปตามแผนยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ คงสภาพพฤติกรรมของนักเรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย พัฒนาศักยภาพครูให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และสามารถจัดการเรียนการสอนสื่อมวลชนศึกษาและความเป็นพลเมืองดีได้อย่างต่อเนื่อง
-----------------------------




[1] เรียบเรียงจากการสนทนากับ อ.รัตนา ยศบุญ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สพฐ.