หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รายงานผลการประชุมบอร์ดโครงการ Reform Lab ครั้งที่ ๒/ ๒๕๕๘

(ร่าง) รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ
โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ครั้งที่ ๒/ ๒๕๕๘
ในวันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุม MOC กระทรวงศึกษาธิการ

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ครั้งที่ ๒/ ๒๕๕๘ มีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ ๒ วาระคือ (๑) รับทราบผลการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ระยะที่ ๑ และ(๒) พิจารณาแนวทางการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป รายละเอียดของการประชุม มีดังนี้


นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข ผู้แทนผู้ช่วยเลขานุการ แจ้งผลการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ระยะที่ ๑ ดังนี้ สิ่งที่เขตพื้นที่และโรงเรียนได้ดำเนินการ อาทิ การสร้างความเข้าใจในจุดเน้นการดำเนินงาน การวางแผนงาน/ ตั้งทีมงาน การศึกษาดูงาน/ ร่วมประชุมสัมมนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ AAR การประสานร่วมมือกับทีมโค้ชภายนอก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัย/ ทีมโค้ชภายนอก ทั้งๆ ที่มีงบประมาณเพียง ๒๒๐,๐๐๐ – ๓๐๐,๐๐๐ บาท ต่อการช่วยสร้างทีมโค้ชภายในเขตและโรงเรียนของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งหลายทีมได้ลงไปทำงานในพื้นที่ล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุน ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา และทีมศึกษานิเทศก์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ การเสริมศักยภาพผู้บริหารโรงเรียนและคณะทำงานเขตเพื่อให้สามารถเป็นโค้ชภายในได้ การนิเทศติดตามโดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและคณะทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ส่วนผลที่เกิดขึ้นที่พบจากการรายงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อาทิ เขตลดการสั่งการโดยเขตพื้นที่มีการกลั่นกรองงาน/ หลอมรวมงานก่อนให้โรงเรียนปฏิบัติ มีการบูรณาการงบประมาณ มีการปรับเปลี่ยนตารางสอนให้เอื้อต่อเป้าหมายของการพัฒนานักเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอน มีการพัฒนาครูที่เน้นให้นำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติการสอน จัดครูเก่งสอนชั้นเรียนที่มีความสำคัญ เช่น ชั้น ป.๑ ให้ครูเตรียมการก่อนสอน เช่น เขียนแผนการสอนหน้าเดียว โรงเรียน ผู้บริหารและครูตระหนักความจำเป็นปฏิรูปและการทบทวนการทำงาน มองเห็นจุดที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงตนเอง ทีมเข้มแข็งขึ้นจากหารือร่วมกันแก้ปัญหา มีกลไกการจัดการผลสัมฤทธิ์ บูรณาการลดชั่วโมงการสอน ติดตั้งระบบ coaching และบางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระบุมาว่านักเรียนมีผลทดสอบ O-NET ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางโครงการยังไม่สามารถสรุปเช่นนั้นได้ว่า ผลการทดสอบ O-NET ที่ดีขึ้น เป็นผลของโครงการนี้ เพราะโครงการมีระยะเวลาดำเนินการไม่นานนัก ประกอบกับมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนน O-NET

นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. แจ้งว่า นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนในระยะต่อไป ซึ่งได้จากการหารือในที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ สามารถสรุปได้ ๓ แนวทาง ได้แก่ (๑) ดำเนินการต่อให้ครบปีการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๒๐ เขต (ระยะที่ ๑) เพื่อให้เห็นผลสำเร็จชัดเจน แล้วจึงพิจารณาขยายผล (๒) ดำเนินการต่อไปในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๒๐ เขต (ระยะที่ ๑) โดยเพิ่มจำนวนโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายขึ้น (๓) ขยายการดำเนินการระยะที่ ๒ ในพื้นที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๔๐ เขต เขตละ ๑๕ โรงเรียน

ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและอภิปรายเพิ่มเติม ดังนี้

๑. ควรทำข้อ ๒ และ ๓ ไปพร้อมกัน เพราะการดำเนินการระยะที่ ๑ ที่ผ่านมามีต้นทุนและแนวทางของการดำเนินการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนอยู่แล้ว ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายเขตสามารถเป็นต้นแบบและถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติกับเขตใหม่ได้ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ข้อมูลการสมัครเข้าร่วมโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๑๕๓ เขต มาพิจารณาเลือกเขตสำหรับดำเนินการในระยะที่ ๒ ได้เพียงพอ

๒. ควรดำเนินการในข้อ ๒ ดำเนินการต่อไปในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน ๒๐ เขต (ระยะที่ ๑) โดยเพิ่มจำนวนโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายขึ้น เพราะยังมีโรงเรียนที่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ/ ICU ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ ที่นอกเหนือจาก ๑๕ โรงเรียนที่ร่วมโครงการแล้ว จึงควรให้เขตดำเนินการอย่างเต็มที่ก่อนขยายจำนวนเขตเพิ่มขึ้น

๓. การดำเนินการระยะที่ ๒ ในพื้นที่ใหม่ และมีตัวชี้วัด (KPI) ที่ชัดเจนจะทำให้การดำเนินการเร็วขึ้น โดยการสรุปความรู้จากการดำเนินงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับสมรรถนะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ อาทิ ครู ผอ.ร.ร. ผอ.สพท. ศน. เพื่อเป็นต้นทุนในการทำงานต่อไป

๔. เรื่องการวัดและประเมินผลโครงการในช่วงนี้อาจจะเร็วเกินไป ซึ่งจำเป็นต้องทำวิจัยและประเมินผลควบคู่ไปด้วย โรงเรียนในโครงการนี้ไม่ใช่มีเพียงโครงการนี้โครงการเดียวที่โรงเรียนดำเนินการ แต่มีโครงการต่างๆ ของ สพฐ. ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนลงไปด้วย ดังนั้น จึงจะต้องมีการพัฒนาตัวชี้วัดบางตัวขึ้นมาเป็นการเฉพาะ หากดูผล O-NET เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถสะท้อนผลโครงการได้ตรงนัก อาจต้องดูพัฒนาการเรียนการสอน การสอนของครู การเรียนของนักเรียน การสะท้อนผลของตนเอง เป็นต้น

๕. โครงการนี้หากจะหวังเพียงยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกจะไม่คุ้ม แต่ควรทำให้ได้ชุดสมรรถนะใหม่ด้วย ทั้งสมรรถนะของครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์ อาทิ สมรรถนะครู มองเห็น ๔-๕ สมรรถนะใหม่ของครู เช่น ครูไม่ติดกรอบ/ครูสามารถปรับใช้หลักสูตรได้ ครูทำการจัดการความรู้เป็น/ KM/ AAR ครูได้เทคนิคการประเมินการสอน การประเมินผู้เรียน การประเมินพัฒนาการของผู้เรียน ครูได้วิธีสอนใหม่ๆ อาทิ PBL/ RBL ครูรู้จักเด็กรายบุคคล อ่านเด็กออกเป็นคนๆ ได้ ครูสามารถเลือกใช้สื่อเป็น ครูสามารถดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ และสมรรถนะในการทำข้อมูลการรายงานและความรับผิดชอบผล ซึ่งอาจใช้ในการประเมินสมรรถนะของบุคลากรเพื่อการเลื่อนวิทยฐานะ การออกแบบหลักสูตรใหม่ การปรับหลักสูตรครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ในการผลิตครูรุ่นใหม่ ฯลฯ ส่วนสมรรถนะของผู้บริหารโรงเรียน อาทิ ต้องปรับใช้หลักสูตรเป็น นิเทศภายในได้ ประเมินผลเป็น ยืดหยุ่นคาบเวลาเรียนได้ สมรรถนะด้านการบริหารจัดการที่สามารถทำงานร่วมกับเขตได้ดี เป็นต้น ซึ่งทีมวิจัยจะต้องมีความเข้มแข็งที่จะเข้าไปประกบการทำงานในพื้นที่ มี evidence/ มีหลักฐานชัดเจน การดำเนินงานโครงการนี้จะต้องมองในเชิงวิจัย ไม่ใช่เชิงพัฒนา

๖. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้รายงานความคืบหน้าของการวิจัยและประเมินที่ สกศ.รับผิดชอบในโครงการนี้ โดยเลขาธิการสภาการศึกษาได้มอบหมายให้ ๒ สำนักร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา และสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา โดยให้เชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอกจากมหาวิทยาลัยบูรพามาช่วย เลขาธิการสภาการศึกษาได้ให้ใช้กรอบนโยบายการกระจายอำนาจ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาครูโดยไม่ทิ้งห้องเรียน การวัดประเมินผล ศึกษาบทบาทของส่วนกลาง ทีมโค้ช บทบาทเขต และโรงเรียน สุดท้ายจะได้รูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ รูปแบบการพัฒนาครู แนวทางการวัดประเมินผล ความสำเร็จของสถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งวันที่ ๑๕ ก.ค.๒๕๕๘ ได้นัดมหาวิทยาลัยบูรพามาหารือในเรื่องนี้และจะเริ่มดำเนินการได้ทันที

๗. โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของโรงเรียนและสมรรถนะของบุคลากร (ผู้บริหารโรงเรียนและครู) อยากให้ทีมวิจัยจัดทำ Progress Report เป็นระยะ เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจระดับนโยบายด้วย

๘. งานวิจัยลักษณะนี้ เป็น Development and Research ที่ทีมนักวิจัยต้องประกบกับทีมในพื้นที่ จะต้องเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพที่เกิดขึ้นจำนวนมาก จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของครู การเปลี่ยนแปลงของผู้บริหาร การนิเทศของศึกษานิเทศก์ คงต้องใช้การสังเกต สัมภาษณ์ focus Group เป็นส่วนใหญ่ มิใช้ลงไปเทอมละครั้ง หรือใช้ Survey Research

๙. ควรดำเนินการให้เห็นผลสำหรับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๖๐ เขต (ประมาณ ๒๖% ของจำนวนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ) ประกอบด้วยระยะที่ ๑ จำนวน ๒๐ เขต และระยะที่ ๒ จำนนวน ๔๐ เขต หลังจากนั้นให้นำข้อค้นพบที่ได้ผลหรือยืนยันผลสำเร็จได้ ให้นำเข้าสู่ระบบงานปกติในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง ๒๒๕ เขต

๑๐. การดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เป็น ๑ ใน ๕ ตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ ตัวชี้วัดที่ ๑.๔ ระดับความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถ้าดำเนินการไม่ครบตามแผนการดำเนินการเดิม ที่กำหนดไว้ว่าจะมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมโครงการ จำนวน ๖๐ เขต ทางส่วนราชการจะต้องขออุทธรณ์ไปยัง ก.พ.ร.

๑๑. ควรเติมโจทย์ใหม่ในการดำเนินการในเขตพื้นที่เดิมและขยายเขตพื้นที่ดำเนินการ ก็คือ การเตรียมความพร้อมให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อให้พร้อมเข้าสู่อาชีพ เนื่องจากสถิติของนักเรียนที่จบชั้น ม.๓ ไม่เรียนต่อเป็นจำนวนมาก และยังมีเด็กที่ออกกลางคันอีกจำนวนหนึ่งด้วย ที่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานโรงงาน ตัวอย่างที่จังหวัดนครราชสีมา นักเรียนเข้าเรียนมา ๑๐๐ คน เหลือจบ ม.๓ เพียง ๓๕ คน เท่านั้น

๑๒. การเลือกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีก ๔๐ เขตใหม่ ควรตอบโจทย์จังหวัดมากกว่าตอบโจทย์เพียงตนเอง ควรเลือกจังหวัดที่เป็นจังหวัดปฏิรูปตนเอง หรือกำลังดำเนินการโดยมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัด หรือสภาการศึกษาจังหวัด หรือชื่ออื่นๆ ที่ดำเนินการเพื่อการจัดตั้งกลไกต่างๆ ในการให้การสนับสนุนทรัพยากร ฯลฯ เพื่อคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้นของเด็ก เยาวชน และคนในจังหวัด ในขณะเดียวกันเขตที่ดำเนินการในระยะที่ ๑ จำนวน ๒๐ เขต ก็เป็นเขตที่อยู่ในจังหวัดที่กำลังปฏิรูปด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ประมาณ ๘ จังหวัด ดังนั้น เขตพื้นที่การศึกษาควรสรุปผลการดำเนินการโครงการนี้ให้คณะกรรมการจังหวัด/ สภาการศึกษาจังหวัดได้รับรู้ เพื่อการสนับสนุนด้านกลไกและทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่

๑๓. การจัด Reform Lab ควรให้แต่ละเขตไปจัดเองจะได้สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย และภาคีเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น

๑๔. การเลือกโรงเรียนถ้าเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาควรพิจารณาเลือกโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาให้ได้เข้าร่วมโครงการด้วย

๑๕. หากจะให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วมช่วยปูพื้นฐานทางอาชีพ ควรมีข้อมูลความต้องการที่ชัดเจนว่านักเรียนต้องการมุ่งประกอบอาชีพอะไร ก็จะให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาปูพื้นให้กับนักเรียนเหล่านี้ แต่จำเป็นต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจน แต่ในการดำเนินการอาจต้องมีการทดลองนำร่องให้ชัดเจนก่อน เพราะมีความไม่ราบรื่นของการส่งต่อจาก สพฐ.ไป สอศ.

๑๖. ประธานสรุปว่า ปัจจัยหลักของการดำเนินการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนระยะต่อไป ประกอบด้วย สพฐ.ในฐานะผู้ปฏิบัติมีความพร้อม มีงบประมาณที่เตรียมไว้แล้วสำหรับการขับเคลื่อนโครงการ และมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างน่าพอใจ ดังนั้น จึงไม่เห็นข้อจำกัดหรือปัญหาในการที่จะไม่ดำเนินการต่อไป ขอฝากให้ สพฐ.ช่วยผลักดันและดำเนินการเพราะเป็นโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด


มติ ที่ประชุมเห็นชอบ 

๑) ให้มีการดำเนินการต่อเนื่องในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระยะที่ ๑ จำนวน ๒๐ เขต โดยให้พัฒนาคุณภาพและคงคุณภาพของโรงเรียน จำนวน ๑๕ โรงเรียนไว้ให้ได้ และให้ขยายโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นตามกำลังและความสามารถของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยเพิ่มโจทย์ของการเตรียมนักเรียนให้พร้อมเผชิญอนาคตด้านการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ มีความพร้อมและมีฝีมือในการประกอบอาชีพ ที่สอดคล้องกับช่วงวัยของนักเรียน 

๒) ให้ดำเนินการระยะที่ ๒ ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๔๐ เขต โดยให้แต่ละเขตเลือกพัฒนาโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ยังไม่ดี เขตละอย่างน้อย ๑๕ โรงเรียน และ 

๓) ให้เตรียมการใช้ประโยชน์ของข้อมูล/ข้อค้นพบที่ได้มาอย่างเป็นระบบจากเขตพื้นที่และโรงเรียนในโครงการ อาทิ ความรู้ด้านชุดสมรรถนะครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ เพื่อนำไปใช้ในการขยายผลเข้าสู่ระบบให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของบุคลากรในโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ

หมายเหตุ
ผู้มาประชุม
๑. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานกรรมการ
๒. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กรรมการ
๓. พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) และเป็นผู้แทนพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
กรรมการ
๔. นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
กรรมการ
๕. นายวัชรินทร์ จำปี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
กรรมการ
๖. นายวีระ พลอยครบุรี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา แทนเลขาธิการสภาการศึกษา
กรรมการ
๗. รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรการการอุดมศึกษา แทนเลขาธิการคณะกรรการการอุดมศึกษา
กรรมการ
๘. นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
กรรมการ
๙. นางจินตนา มีแสงพราว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล แทนเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
กรรมการ
๑๐. นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรรมการและเลขานุการ
๑๑. นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา แทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
กรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ

ผู้ไม่มาประชุม (ติดภารกิจ)
๑. นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รองประธานกรรมการ
๒. นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
กรรมการ

ผู้เข้าร่วมประชุม
๑. นายเอนก รัตน์ปิยะภาภรณ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.
๒. นาวาเอก รณัชย์ เทพวัลย์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๓. นาวาโท ปริทัศน์ นิระฉัตรสุวรรณ์ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
๔. นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
๕. นายพิทักษ์ โสตถยาคม นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สพฐ.
๖. นางสาวกมลวรรณ รอดจ่าย นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สพฐ.