หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

รายงาน คสช.: Education Reform Lab

ความคืบหน้าการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ สพฐ. เพื่อรายงาน คสช.
โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน
พิทักษ์ โสตถยาคม (20 พ.ย. 2557)
การรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ขอแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) แผนการดำเนินงานโครงการ (2) ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ และ(3) สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งมีข้อมูลโดยสรุป ดังนี้

ส่วนที่ 1 แผนการดำเนินงานโครงการ
แผนการดำเนินงานในการนำเสนอครั้งนี้จะประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ กรอบการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงาน ซึ่งเป็นภาพรวมของโครงการในการดำเนินงานและการขยายผลระยะยาว ดังนี้

กรอบการดำเนินงาน
จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย) ที่มุ่งวางยุทธศาสตร์ระยะยาวและระบบการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และมีความเป็นพลเมืองไทยที่ดี เริ่มต้นด้วยการนำร่องกระจายบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างจริงจังไปยังเขตพื้นที่การศึกษา หนุนเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน พร้อมปลดล็อกอุปสรรคการบริหารจัดการศึกษาที่ขัดขวางการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเองของโรงเรียน ด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้เต็มรูปแบบ (Full Scheme Model) และดำเนินการวิจัยคู่ขนานให้ได้ข้อค้นพบเชิงประจักษ์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานในวงจรการปฏิบัติระยะต่อไป ซึ่งกำหนดกรอบการดำเนินงานเบื้องต้นไว้ จำนวน 3 ปีต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2558-2560 หรือ พ.ศ.2557-2560 ดังแผนภาพ

แผนงาน
โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อนำร่องกระจายอำนาจลงสู่เขตพื้นที่การศึกษา โดยการแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการศึกษาระดับโรงเรียน ในด้านการบริหารบุคคล งบประมาณ และการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยตนเอง (2) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในสาระวิชาหลักให้สูงขึ้นกว่าเดิม และการพัฒนาผู้เรียนทันทีอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความรู้ ทักษะศตวรรษที่ 21 และความเป็นพลเมืองไทยที่ดี (3) เพื่อติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งโรงเรียน โดยใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารและครู

ลักษณะการดำเนินงานเป็นนำร่องปฏิรูปการเรียนรู้เต็มรูปแบบ โดยใช้สำนักงานเขตพื้นที่เป็นฐาน และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนได้ใช้ศักยภาพและภาวะผู้นำการเรียนการสอนอย่างเต็มพิกัด ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คุณภาพผู้เรียน พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานเป็นทีม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผลการปฏิบัติการสอนร่วมกัน ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนของผู้บริหารและครูทุกคนเพื่อทำให้ลูกศิษย์แต่ละคน และทุกๆ คนเจริญงอกงามรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการในระยะ 3 ปี (ปีงบประมาณ 2558-2560) ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนนำร่องครบ 100% ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด (225 เขต) มีโรงเรียนนำร่องทั้งสิ้น 3,375 โรงเรียน

สำหรับจำนวนโรงเรียนเป้าหมายแต่ละปีของแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะมีโรงเรียนเข้าร่วมปฏิรูปการเรียนรู้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีแรกจะเริ่มต้นในโรงเรียน จำนวน 15 โรงเรียนและเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ เมื่อเข้าสู่ปีที่สองของการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะมีโรงเรียนเข้าร่วมปฏิรูปการเรียนรู้เพิ่มเป็น ร้อยละ 30 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ และจะเพิ่มเป็น ร้อยละ 50 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่เมื่อดำเนินการครบปีที่ 3 นั่นหมายความว่า หากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการครบ 3 ปีนับจากเริ่มเข้าโครงการ จะมีโรงเรียนร่วมกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างจริงจัง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ หรืออาจกล่าวได้ว่า จะมีโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ครึ่งประเทศ หรือไม่น้อยกว่า 15,000 โรงเรียน ซึ่งรายละเอียดของจำนวนโรงเรียนเป้าหมายแต่ละปี ดังตาราง ต่อไปนี้


ส่วนที่ 2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ
ความก้าวหน้าในการดำเนินงานเป็นสิ่งที่ได้ดำเนินการแล้วเพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายของการทำงานในระยะแรกของปีที่ 1 นั่นคือ ให้ได้พื้นที่นำร่องทดลองปฏิรูปการเรียนรู้เต็มรูปแบบ จำนวน 20 เขต รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในพื้นที่ และวางระบบกลไกการส่งเสริมสนับสนุนและวิจัยติดตามผลด้วย ซึ่งมีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้

รายการ
ผู้เข้าร่วม
วันเวลา สถานที่
ผลการดำเนินงาน
1. ประชุมวางแนวทางดำเนินงานโครงการ
ทปษ.รมว.ศธ., ผช.เลขานุการ รมช.ศธ. เลขาธิการ กพฐ. รองเลขาธิการ กพฐ. ผอ.สำนักที่เกี่ยวข้องใน สพฐ.
24 ต.ค. 2557 ณ สพฐ.
ได้หลอมรวมความคิดระดับนโยบายเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ วางหลักการทำงาน กระบวนการ ผู้รับผิดชอบหลักของ สพฐ. และแหล่งงบประมาณเพื่อดำเนินการ

2. สร้างความเข้าใจภาพรวมโครงการให้ ผอ.เขตพื้นที่ทราบในการประชุม ผอ.สพป./ สพม.ทั่วประเทศ และให้แจ้งความประสงค์ร่วมโครงการ
ผอ.สพป./ สพม.ทั่วประเทศ จำนวน 225 คน, เลขาธิการ กพฐ.และผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ., ทปษ.รมว.ศธ., ผช.รมต.ศธ., ผช.เลขานุการ รมช.ศธ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ สพฐ.
30 ต.ค. 2557 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่
ผอ.สพป./ สพม. ทั่วประเทศได้รับทราบเป้าหมายเจตนาของโครงการ และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินงานโครงการ โดยเขียนใบสมัคร จำนวน 153 เขตพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 68 ของสำนักงานเขตพื้นที่ทั้งหมด

3. ประชุมคณะทำงานเพื่อวางแนวทางดำเนินงานและพิจารณาข้อมูลของเขตพื้นที่ที่สมัครและจัดส่งข้อมูล SWOT Analysis เข้ามายัง สพฐ.
คณะทำงาน สพฐ. โดย ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาและคณะ และ ทปษ.รมว.ศธ.และคณะ
7 พ.ย. 2557 ณ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
ได้รับทราบนโยบาย รมว.ศธ.เกี่ยวกับแนวทางนำร่องทดลองปฏิบัติการลงสู่เขตพื้นที่การศึกษาเต็มรูปแบบ เป็นการหนุนเสริมเชิงวิชาการและปลดล็อคอุปสรรคปัญหาการบริหารจัดการ และพิจารณาข้อมูลเขตพื้นที่ รวมทั้งเลือกเขตพื้นที่นำร่อง จำนวน 20 เขต ในจำนวนนี้มีเขตที่ทับซ้อนกับโครงการ Area-based Education: ABE อยู่ส่วนหนึ่ง เพื่อดูผลในมิติการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในจังหวัดด้วย
4. ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงาน
ทปษ.รมว.ศธ.และคณะ ผช.เลขานุการ รมช.ศธ. และคณะทำงาน สพฐ. โดย ผอ.สนก. และคณะ
12 พ.ย.2557 ณ ห้อง ทปษ.รมว.ศธ.
ได้กรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนจากนโยบาย รมว.ศธ.เพื่อนำไปสู่การนำร่องในปีที่ 1 จำนวน 60 เขต (ระยะแรก 20 เขต ระยะที่สอง 40 เขต) และแผนการขยายผลเต็มพื้นที่ 225 เขต ในระยะเวลา 3 ปี หากการดำเนินการระยะนำร่องได้ผลดี
5. ประชุม ผอ.สพป./ สพม.ที่จะนำร่องระยะแรก จำนวน 20 เขต เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน
รมว.ศธ., ผช.รมต.ศธ., ทปษ.รมว.ศธ., ผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ., ผอ.สพป./ สพม. คณะทำงาน สพฐ. โดย ผอ.สนก.และคณะ และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ.
14 พ.ย.2557 ณ สพฐ.
ผอ.สพป./ สพป.ได้เห็นพ้องกับเป้าหมายโครงการและแสดงเจตจำนงที่จะร่วมทำให้สำเร็จ รวมทั้งได้รับรู้รับทราบความตั้งใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่แท้จริงของ รมว.ศธ.โดยผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นำร่องที่จะเริ่มต้นดำเนินการในเดือนมกราคม 2557
6. ประชุมคณะทำงานเตรียมการประชุม Reform Lab และ Coaching Lab จุดที่ 1 ของโครงการ
คณะทำงานของ ทปษ.รมว.ศธ., คณะทำงานของ สพฐ. และคณะทำงานของ สกศ.
15 พ.ย.2557 ณ สพฐ.
ได้แนวปฏิบัติในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (Reform Lab) และจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Coaching Lab) ณ สพป.ภูเก็ต
7. ประชุมหารือเติมเต็มแนวทางการดำเนินงานโครงการจากภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนา
ทปษ.รมว.ศธ., ผชช.พิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้  สพฐ. คณะทำงานของ สพฐ. และคณะทำงานของ สกศ., มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย, มูลนิธิสยามกัมมาจล
18 พ.ย.2557 ณ สพฐ.
ได้เห็นภาพรวมของโครงการและบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการชัดขึ้น โดยเฉพาะการวิจัยติดตามผลโดย สกศ.

ส่วนที่ 3 สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป
การดำเนินการต่อจากนี้จะเป็นการทำงานลงลึกและเกาะติดกระบวนการพัฒนาของสำนักงานเขตพื้นที่นำร่องทั้ง 20 เขต และประกบด้วยการวิจัยติดตามผลเพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่ชัดเจนอันนำไปสู่การขยายไปสู่เขตพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ อย่างน้อย 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การสร้างความเข้าใจให้บุคลากรของเขตพื้นที่ การส่งเสริมสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ. การดำเนินการปฏิรูปเต็มรูปแบบของเขตพื้นที่ และการวิจัยติดตามผลของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีรายละเอียดของข้อมูล ดังนี้


1. เสริมสร้างความเข้าใจเขตนำร่อง เพื่อทำความเข้าใจในโครงการ การจัดทำแผนปฏิบัติการ และการปฏิบัติการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน โรงเรียน และการบริหารจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยจะจัดสัมมนาปฏิบัติการ จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ (1) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (Reform Lab) จำนวน 3-6 ครั้ง โดยใช้เขตพื้นที่ในโครงการ Area-based Education: ABE เป็นเจ้าภาพ ซึ่งครั้งที่ 1 ณ สพป.ภูเก็ต ในวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2557 และ(2) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน (Coaching Lab) เป็นการสร้างความเข้าใจและเสริมศักยภาพผู้แทนเขตพื้นที่ เขตพื้นที่ละ 20 คน ประกอบด้วย ผอ.สพป./ สพม. 1 คน ทีมวิชาการของเขต 4 คน และผู้อำนวยการโรงเรียน 15 คน ซึ่งจะจัดทั้งสิ้น 6 ครั้ง ดังนี้
2. จัดปัจจัยเกื้อหนุนและระบบส่งเสริม กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดปัจจัยเกื้อหนุน และระบบส่งเสริมการดำเนินงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
3. ปฏิบัติการเต็มรูปแบบ สำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการนำร่องปฏิบัติการเต็มรูปแบบ
4. วิจัยติดตามผลทุกระยะ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาวิจัยติดตามโครงการเพื่อศึกษาระบบการจัดการแบบใหม่และผลที่เกิดขึ้นที่คุณภาพครูและผู้เรียน ระยะ 3 เดือน 6 เดือน และตลอดโครงการ

----------------------------------------