หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

เตรียมจัดเวทีบูรณาการภาครัฐเพื่อคุณภาพการศึกษา


เตรียมจัดเวทีปฏิรูปการศึกษา: ผนึกกำลัง & บูรณาการภาครัฐ
พิทักษ์ โสตถยาคม

วันก่อน (1 เม.ย.2556) รองเลขาธิการ กพฐ. (นายอนันต์ ระงับทุกข์) มอบให้ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการศึกษา และที่ประชุมขอให้ช่วยประสานการจัดประชุม "เวทีบูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา" กำหนดจัดวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เวลา 09.00-15.00 น. ณ โรงแรมแก้วเจ้าจอม มรภ.สวนสุนันทา ดังนั้น ช่วงนี้ผมจึงช่วย สปร. (สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ.2553) ประสานบุคคลกลุ่มต่างๆ เพื่อเข้าร่วมประชุมครั้งนี้  

เวทีนี้จัดขึ้นเป็นเวทีที่ 5 ต่อจาก -เวทีพลังเด็กและเยาวชน -เวทีการศึกษาทางเลือก -เวที Corporate Education -เวทีการจัดการศึกษาโดยท้องถิ่น เวทีต่างๆ นี้เกิดขึ้นจากมติคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการศึกษา มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานกรรมการ (คณะกรรมการชุดนี้ ตั้งโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป) เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนออย่างเท่าเทียมและนำมติไปขับเคลื่อนต่อครับ
เวทีบูรณาการภาครัฐฯ ก็เช่นเดียวกับเวทีอื่นๆ ที่ให้ผู้เข้ามาร่วมได้ให้ความคิดเห็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่เวทีนี้พิเศษตรงที่จะมีการนำข้อคิดเห็นจากเวทีอื่นๆ มาเป็น input ในการพูดคุยด้วยครับ
ผู้เข้าร่วมในเวทีบูรณาการภาครัฐ มาจากหลายองค์กร หลักๆ จะเป็น สอศ. สพฐ. สกศ. สป. สกอ. ผมได้ยกร่างให้มีวงพูดคุยหลายกลุ่ม (กลุ่มละประมาณ 10 คน ยกเว้นกลุ่มที่ 1 จะมากกว่า 10 คนครับ) ได้แก่ 
  1. กลุ่มนักการศึกษา/ ผู้ใส่ใจในการศึกษา 
  2. กลุ่มผู้บริหารระดับนโยบาย (ส่วนกลาง) 
  3. กลุ่มผู้บริหารระดับเขตพื้นที่
  4. กลุ่มผู้นำระดับกลาง/ หัวหน้ากลุ่มในสำนักส่วนกลาง
  5. กลุ่มศึกษานิเทศก์
  6. กลุ่มผู้บริหารโรงเรียน 
  7. กลุ่มครูผู้สอน

กิจกรรมการประชุม ช่วงแรกจะเป็นการนำเสนอผลจากเวทีก่อนหน้านี้ จากนั้นจะเชิญประชุมกลุ่มย่อย สรุปและนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย สุดท้ายจะเป็นการสะท้อนความคิดและอภิปรายทั่วไปร่วมกัน
ผลจากการประชุมครั้งนี้ อาจไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมาย แต่การร่วมวงพูดคุย-รับรู้-สร้างความเข้าใจร่วมกัน จะทำให้แต่ละคนได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำความคิดความเห็นไปสานต่อ ในบทบาทของแต่ละคน นอกจากนั้น ผู้จัดการประชุมจะนำข้อสรุปจากเวทีนี้ไปสู่เวทีสมัชชาปฏิรูป ที่จะจัดขึ้นประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้ครับ เวทีใหญ่น่าจะเป็นหมอประเวศเป็นประธาน เพื่อนำสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปครับ
สำหรับ รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมเดิม ในส่วนของ สพฐ. จะประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายท่าน แต่ปรากฎว่า สพฐ.กำหนดจัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2556 ซึ่งตรงกับวันประชุมนี้ จึงทำให้ผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเวทีนี้ได้ ดังนั้น จึงได้ประสานผู้บริหาร/ ผู้นำทั้งจากส่วนกลางและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีประสบการณ์และมีความโดดเด่นในการทำงานเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะช่วยเสริมเติมเต็มมุมมองและทิศทางบูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาได้เป็นอย่างดี รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม (ยังไม่ได้เพิ่มรายชื่อคณะกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการศึกษา) มีดังนี้
รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม "เวทีบูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา" 
วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2556 เวลา 09.00-05.00 น. 
ณ ห้องประชุมสุพรรณิการ์ ชั้น 2 โรงแรมแก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
ที่   ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง/ หน่วยงาน
1 นาย กนก อินทรพฤกษ์ รอง ผอ.สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.
2 ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
3 นาย กลิ่น สระทองเนียม ศน.เชี่ยวชาญ สพม. เขต 1 กรุงเทพมหานคร
4 นาง เกล็ดแก้ว เจริญศักดิ์ ศน.ชำนาญการพิเศษ สำนักงาน กศน.
5 นาย แก่นเพชร ช่วงรังษี อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
6 นาย คู่บุญ ศกุนตนาค นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
7 นาย โฆสิทธิ์ แสงกุศลส่ง รอง ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร
8 นาง งามพิศ ลวากร รอง ผอ.สพม. เขต 1 กรุงเทพมหานคร
9 น.ส. จตุพร สุทธิวิวัฒน์ ศน.เชี่ยวชาญ สำนักงาน กศน.
10 ดร. จรัสศรี หัวใจ ศน.ชำนาญการพิเศษ สำนักงาน กศน.จังหวัดฉะเชิงเทรา
11 น.ส. จินตนา ด้วงชอุ่ม ครู กศน.เขตปทุมวัน
12 นาง เจิดฤดี  ชินเวโรจน์   สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ
13 ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ประสานงานชุดโครงการ สกว.
14 ดร. ชฎามาศ ธุวเศรษฐกุล  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.
15 นาย ชาญเวช  บุญประเดิม  ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม
16 ดร. ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
17 นาย ชุติวัฒน์ สุวัตถิพงศ์ ครู ร.ร.มาแตร์เดอีวิทยาลัย
18 นาย ชูชาติ แก้วนอก รอง ผอ.สพป.สมุทรปราการ เขต 1
19 นาย ฐานิส ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
20 ดร. ณัฐพล ตันเจริญทรัพย์ นักวิชาการศึกษา สตผ.สพฐ.
21 นาย ดำรงค์  จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
22 นาย ถวิล ศรีใจงาม ผอ.ร.ร.พระโขนงพิทยาลัย สพม. เขต 2 กรุงเทพมหานคร
23 น.ส. ทองพูล บัวศรี มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
24 ดร. ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล TK Park
25 นาง ทิชา ณ นคร  บ้านกาญจนาภิเษก
26 นาย ธงชัย สาระกูล นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน สธ.
27 นาย ธีรวุฒิ  เจริญรัมย์ รอง ผอ.สพป.กรุงเทพมหานคร
28 นาง นนทปภา ศรีนนท์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
29 นาง นภา เศรษฐกร  อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
30 น.ส. นวลพรรณ ศาสตร์เวช ศน.ชำนาญการ สำนักงาน กศน.
31 นาง นวลอนงค์  ธรรมเจริญ  ผอ.กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง
32 นาย นิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์   วิทยาลัยเทคนิคบางละมุง จ.ชลบุรี
33 ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
34 ดร. นิภาพร กุลสมบูรณ์ Education Specialist ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 
35 ดร. บรรเจอดพร สู่แสนสุข รอง ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.
36 นาย บรรเจิด กลิ่นจันทร์ รอง ผอ.สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1
37 นาย บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
38 นาย ปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
39 นาย ประพน  จุลวิเทศ   หน่วยศึกษานิเทศก์ สอศ.
40 นาย ประภาส เขียวแก้ว ผอ.ร.ร.บ้านห้วงพัฒนา สพป.ตราด
41 นาง ปัทมา  วีระวานิช   ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผนและกลยุทธ์ สอศ.
42 นาย ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
43 พญ. พรรณพิมล หล่อตระกูล  รองอธิบดีกรสุขภาพจิต
44 ผศ.ดร. พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อาจารย์ภาควิชาครุศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
45 นาย พานิช ศรีงาม ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
46 ดร. พิเชฐ โพธิ์ภักดี รอง ผอ.สพป.บุรีรัมย์ เขต 1
47 นาง พิมพา หาญวัฒนะชัย  ศน.ชำนาญการ สำนักงาน กศน.
48 ดร. พิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
49 น.ส. พุทธชาด ศุภลักษณ์   สำนักความร่วมมือ สอศ.
50 นาง ภรณ์ชภัสร์ โสตถยาคม ครู ร.ร.สายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สพม. เขต 1
51 น.ส. มณนิภา ชุติบุตร ผอ.กลุ่มนิเทศฯ สพม. เขต 1 กรุงเทพมหานคร
52 นาย มานพ รวยลาภ รอง ผอ.สพม. เขต 7 จ.ปราจีนบุรี
53 นาง มาลี สืบกระแส ผอ.กลุ่มนิเทศฯ สพป.ลพบุรี เขต 1
54 นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต
55 นาง ยุวดี นุชทรัพย์ ครู ร.ร.วัดปากน้ำฝั่งเหนือ สำนักงานเขตตลิ่งชัน กทม.
56 นาง รัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
57 ดร. รัตนา แสงบัวเผื่อน นักวิชาการศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.
58 นาง ราตรี ศรีไพรวรรณ ผอ.ร.ร.พระยาประเสริฐสุนทราศรัย(กระจ่าง สิงหเสนี)
59 ดร. รุ่งอรุณ ไสยโสภณ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงาน กศน.
60 น.ส. ลัดดา ตั้งศุภาชัย  ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงวัฒนธรรม
61 รศ.ดร. ลัดดา ภู่เกียรติ ผอ.ร.ร.สาธิตพัฒนา
62 ผศ.ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา
63 นาย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
64 นาย วิทยา ประภาพร  รอง ผอ.สำนักพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
65 นาย วิธีร์ พานิชวงศ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ กระทรวงการคลัง
66 นาย วิบูลย์ ทานุชิต รอง ผอ.สพป. ลำปาง เขต 2
67 ดร. วิภาพร นิธิปรีชานนท์ นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
68 น.ส. วีณา อัครธรรม ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ.
69 นาย วีระพงษ์ ไตรศิวะกุล รอง ผอ.สพม. เขต 29 จ.อุบลราชธานี
70 นาย วิริยะ ผลโภค Director บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 
71 ดร. ศรีชัย พรประชาธรรม  ผอ.ภารกิจนโยบายฯ สำนักงานเลขาธิการ ก.ค.ศ.
72 นาง ศรีอัมพร ประทุมนันท์ ครู ร.ร.อนุบาลวัดป่าเลไลยก์ สพป.สุพรรณบุรี เขต 1
73 ดร. ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา
74 นาย ศิริ  จันบำรุง  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครนายก
75 นาย ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รอง ผอ.ร.ร.เพลินพัฒนา
76 นาย ศุภวัจน์ พรมตัน ครู ร.ร.นครวิทยาคม สพม. เขต 36 จ.เชียงราย
77 ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
78 นาย สมชาย เจริญอำนวยสุข  ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและครอบครัว
79 นาย สมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา  รองปลัดกระทรวงไอซีที
80 นาย สมประสงค์  สิงห์สุวรรณ   ผอ. วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
81 น.ส. สมรัชนีกร อ่องเอิบ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สกศ.
82 ศ.ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
83 นาย สรรพประสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์  มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
84 นาง สินีนาท  ภูมิพล   หน่วยศึกษานิเทศก์ สอศ.
85 รศ.ดร. สุธรรม วาณิชเสนี ประธานกรรมการ SVI Initiatives
86 นาย สุรชาติ มานิตย์ รอง ผอ.สพม. เขต 18 จ.ชลบุรี
87 ผศ.ดร. สุรวาท ทองบุ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย
88 ดร. สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
89 นาง สุรีรัตน์ พงศ์สุวรรณ ผอ.ร.ร.วัดสีดาราม สพป.ราชบุรี เขต 2
90 นาง อรชร วรรณสอน ผอ.ร.ร.วัดเสาธงหิน อบจ.นนทบุรี
91 นาย อุดม  รูปดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพะเยา
92 ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน
93 ดร. อุ้มบุญ สิงห์อัศวิน นักวิชาการศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาภาคบังคับ สพฐ.
94 นาง อุมาพร  ไชยจำเริญ   วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน กรุงเทพมหานคร
95 น.ส. อุษา ชูชาติ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สกศ.



CU - Coaching and Mentoring


การเตรียมทีม Coaching and Mentoring
กรณีศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิทักษ์ โสตถยาคม

อย่างที่ทราบกันว่า โครงการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง coaching and mentoring นี้ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จากคำบรรยายของรองเลขาธิการ กพฐ. (นายอนันต์ ระงับทุกข์) เมื่อ 7 มีนาคม 2556 ในการประชุมสัมมนาเพื่อเตรียมพัฒนาครูระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับสถาบันอุดมศึกษา ประจำปี 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์  ได้เน้นย้ำว่า สพฐ.สนับสนุนการพัฒนาครู ณ สถานศึกษา เพื่อร่วมสนับสนุนส่งเสริมให้เกิด “ห้องเรียนคุณภาพ” เป็นการใช้ “พลัง 3 ประสานคือ โรงเรียน เขตพื้นที่ และมหาวิทยาลัย” พัฒนาจากต้นทุน-ฐานเดิมของครูและโรงเรียน มีเป้าหมายคือการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับจากโครงการนี้ ไม่เพียงประโยชน์เฉพาะบุคลากรกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น แต่บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็จะได้ทำภารกิจการบริการวิชาการและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ รวมทั้งมีความเข้าใจในสภาพจริงที่ครูและโรงเรียนเผชิญอยู่ จะช่วยให้สถาบันครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ปรับปรุงการผลิตบัณฑิตครู ได้ตรงกับความต้องการในการใช้ครูมากยิ่งขึ้น ผมทราบว่า โครงการนี้ได้เกิด 3 ประสานของการพัฒนาในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ผม และ อ.สมควร วรสันต์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับความกรุณาและโอกาสจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และวิชาชีพครู และประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง coaching และ mentoring ให้เราได้ไปร่วมเรียนรู้ในกระบวนการประชุมทีมวิทยากรของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปชี้แนะและเสริมกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโรงเรียนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อไปถึงห้องประชุม คือ ชีวิตชีวา-ความกระตือรือร้น-ความมุ่งมั่นตั้งใจของหัวหน้าทีม (รศ.ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา) ผมนั่งดูก็นึกถึงบรรยากาศรถทัวร์ทัศนศึกษา (หรือแบบชวนกันไปปลูกป่าชายเลน/ ไปออกค่ายอาสา) ที่ลูกทัวร์ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ พร้อมไปเรียนรู้ที่ต่างๆ และตั้งใจฟังหัวหน้าทีมที่ขณะนี้ทำหน้าที่เป็น “ไกด์” เล่าให้ฟัง และให้คำแนะนำทีละส่วน ทีละขั้น ทีละตอนว่า ทีมของเราจะไปทำอะไร ทำไม และอย่างไร

มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ลงนามความร่วมมือกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 เขต  ได้แก่ (1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 จ.กรุงเทพมหานคร (2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42 จ.นครสวรรค์และอุทัยธานี (3) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 และ(4) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตราด เพื่อพัฒนาครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ให้มีความสามารถในการชี้แนะ มีครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ เขตละ 100 คน ยกเว้น สพม.เขต 1 มีจำนวน 203 คน ซึ่งเป็นบุคลากรในโรงเรียนของ สพม.เขต 1 จำนวน 9 แห่ง, สพม. เขต 42 จำนวน 16 แห่ง, สพป.ระยอง เขต 2 จำนวน 12 แห่ง, และสพป.ตราด จำนวน 7 แห่ง

จุดเน้นของการพัฒนาเป็นไปตามข้อกำหนดตาม TOR ที่สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพค.) เสนอแนะไว้ นั่นคือ Literacy, Numeracy, Reasoning Ability, บันได 5 ขั้นของการเรียนการสอน (Learning to Question, Learning to Search, Learning to Construct, Learning to Communicate, และ Learning to Service) นอกจากนั้น คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับห้องเรียนคุณภาพ, Lesson Study, ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการ coaching และ mentoring รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการสู่การเสริมสร้างชุมชนนักปฏิบัติมืออาชีพด้วย ซึ่งได้จัดทำโมดูล จำนวน 5 โมดูลเพื่อใช้ในการพัฒนาใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

นั่งฟังการเตรียมการของทีมวิทยากร ทำให้เห็นว่า ทีมวิทยากรกำลังเตรียมการเพื่อช่วยให้เกิดระบบการชี้แนะขึ้นในพื้นที่ ทั้งระหว่างเพื่อนครูด้วยกันเอง ระหว่างครูกับผู้บริหาร ระหว่างผู้บริหารกับศึกษานิเทศก์ ระหว่างศึกษานิเทศก์กับครู มีการออกแบบการขับเคลื่อนงานได้อย่างน่าสนใจ โดยหัวหน้าทีมวิทยากรเน้นย้ำว่า ทีมวิทยากรจะพยายามไม่ทำ 3 เรื่อง เมื่อลงไปในพื้นที่ คือ “ไม่สั่ง ไม่สอน ไม่บอกคำตอบ”

นอกจากโครงการนี้จะเป็นความร่วมมือ 3 ประสาน ระหว่างมหาวิทยาลัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนแล้ว การจัดทีมวิทยากรของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นแบบ 3 ประสานเช่นกันคือ ประกอบด้วยทีมวิทยากร 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ (2) อาจารย์จากโรงเรียนสาธิต ฝ่ายมัธยม และ(3) อาจารย์จากโรงเรียนสาธิต ฝ่ายประถม รวมจำนวนกว่า 40 คน ถือเป็น “การจัดทัพ” และเตรียมเคลื่อนกำลังพลที่มีความพร้อมมาก

จากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้  ทำให้ผมได้เห็นพลังของการร่วมมือร่วมใจของทีมวิทยากร มุมมองเชิงบวกของทีมวิทยากรที่เห็นโอกาสทำโครงการนี้ให้เป็น "พลังบวก" ที่เป็นการประสานคน-ประสานงาน เชื่อมโยงกับภาระงานปกติและความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของอาจารย์แต่ละคนได้อย่างลงตัว และการแสดงออกที่เห็นได้ในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนตั้งใจทำงานนี้ เพื่อให้สิ่งที่ดีงามและสร้างสรรค์เกิดขึ้นในห้องเรียนและโรงเรียนของเรา ซึ่งหัวหน้าศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. บอกกับผมว่า เมื่อได้เห็นภาพการทำงานของจุฬาฯ แล้วรู้สึกสบายใจ ซึ่งผมก็เชื่อว่า สิ่งดีๆ ของการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ คงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้

นอกจากนั้น ในปีการศึกษานี้ น่าจะถือได้ว่าเป็น “ปีทองของการนิเทศ” เพราะนอกจาก สพฐ.จะสนับสนุนโครงการ coaching และ mentoring ให้ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยตามความต้องการของพื้นที่เองแล้ว สพฐ.ยังได้สนับสนุนโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (teacher coaching) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย ซึ่งจะทำให้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการชี้แนะและการเป็นพี่เลี้ยง (coaching and mentoring) รวมทั้งเรื่อง Literacy, Numeracy และ Reasoning Ability ในหลายมิติ เพราะจะมีการพูดคุย-ตีความ-นำไปใช้ในโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่ง สพฐ.จะได้ถอดบทเรียนและสังเคราะห์องค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. จะได้ประโยชน์จากความลึกซึ้งและเป็นที่พึ่งได้ในเชิงวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยก็จะได้เรียนรู้การปฏิบัติจริงจากครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยเช่นกัน.

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ภาคเอกชนพัฒนาการศึกษาไทย

เวทีเสวนา Corporate Education
[พิทักษ์ โสตถยาคม]

เวลาตั้งวงพูดคุย-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ใส่ใจในอนาคตของประเทศเรา ผ่านโจทย์ “การศึกษา & การพัฒนากำลังคน” ...ทุกๆ ครั้ง ผมได้เห็นเจตนา ความมุ่งมั่น และพลังสร้างสรรค์ที่เต็มเปี่ยมของผู้ร่วมวงเสวนา และทุกๆ ครั้ง แต่ละคนก็นำเรื่องดีๆ ที่ได้ผ่านการลงมือทำ มีประสบการณ์ของความสำเร็จและบทเรียนจากความพยายามมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องราวเหล่านี้ได้ช่วยขยายมุมมองของผมให้กว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นโจทย์/ คำถาม “ทำไม...?” “เพราะอะไร...?” ..ต่อไปเช่นกัน...

เวทีวันนี้ (พุธ 24 เม.ย.2556) เป็นเรื่อง “บทบาทภาคเอกชนเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย” ผมมาถึงที่ประชุมของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อการประชุมเริ่มไปประมาณ 15 นาที และอยู่ร่วมการประชุมจนถึงเวลา 17.30 น. กิจกรรมการประชุมที่พบมี 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นการนำเสนอ “รายงานการศึกษาเบื้องต้นโครงการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายภาคเอกชนผู้จัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษา” สนับสนุนโดยมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ช่วงที่สองเป็นการบอกเล่าการจัดการศึกษาที่ผ่านมาอาทิ โรงเรียนมีชัยพัฒนา (คุณมีชัย วีระไวทยะ) สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง/ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (คุณพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล)  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (คุณณีรนุช) และช่วงสุดท้ายเป็นการสะท้อนคิดเพื่อก้าวต่อไป

ผมได้ฟังช่วงสุดท้ายของการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นฯ เกี่ยวกับข้อสังเกตของนักวิจัยที่พบจาก 4 กรณีศึกษา ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร.ร.มัธยมมีชัยพัฒนา สถาบันอาศรมศิลป์ และโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาและ ร.ร.วิทยาศาสตร์ กลุ่ม ปตท. พื้นที่ภาคตะวันออก พบว่าการจัดการเรียนการสอนมีลักษณะเน้นประสบการณ์ตรง เป็นการขยายโอกาสเข้าถึงการศึกษาของประชาชน พัฒนาบุคลากรตรงตามความต้องการกำลังคนของประเทศ เป็นการจัดที่เน้นพึ่งตนเองลดการพึ่งพิงภาครัฐ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และใช้เวลาบ่มเพาะผู้สอนให้ตรงแนวทางของสถาบัน และมีคำพูดที่น่าคิดจากการนำเสนอว่า “ภาคมหาวิทยาลัยวิ่งไปสู่ความเป็นธุรกิจ แต่ภาคธุรกิจกำลังสร้างมหาวิทยาลัย”

และจากการนำเสนอผลสังเคราะห์องค์กรเอกชนที่จัดการศึกษาโดย รศ.ประภาภัทร นิยม ทำให้เห็นว่า ภาคเอกชนจัดการศึกษาหลากหลายองค์กรมาก อาจารย์ประภาภัทรจำแนกเป็น 3 กลุ่มคือ (1) กลุ่มที่ทำ CSR และกลายเป็น CIV (Creative Integrated Value) ไปแล้ว เช่น มูลนิธิไทยคม (2) School-BIRD (School-Based Integrated Rural Development Program) เช่น ร.ร.มัธยมมีชัยพัฒนา สถาบันอาศรมศิลป์ มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น (3) Corporate (Work-based learning) เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

อ.ประภาภัทรยังได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า เมื่อภาคเอกชนจัดการศึกษา จะมองเป้าหมายของผู้เรียนแตกต่างจากการจัดการศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งเป้าหมายชัดเจนว่าผู้เรียนจะต้องมีงานทำ ทำงานเป็น เป็นผู้นำ พึ่งตนเองได้ มีกิจการเป็นของตนเอง และพยายามปลดล็อค/ ปรับแก้ปัญหาหลายๆ ส่วน เช่น การให้ตีค่าการเรียนเพียงรับใบปริญญา หรือเรียนแล้วเอาไปใช้งานไม่ได้ ก็จะมุ่งปรับให้เป็นเรียนได้ทุกวัย มีความยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริง อาจารย์ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยไคสต์ (KAIST-Korea Advanced Institute of Science & Technology) ซึ่งปี 2012 อยู่ในอันดับ 24 ของ World University Rankings ในด้าน Engineering and Technology ได้รับการยอมรับจากชาวเกาหลีว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของประเทศ โดยที่มหาวิทยาลัยนี้ได้นำ big problem ของประเทศมาเป็นโจทย์ของมหาวิทยาลัยและช่วยตอบโจทย์ประเทศ มี 6 หน่วยวิจัยที่มีการทำงานอย่างบูรณาการและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างเข้มข้น 

นอกจากนั้น อาจารย์ยังได้นำผลการพูดคุยระหว่างสถาบันที่จัดการศึกษาของภาคเอกชน เห็นตรงกันว่าจะประสานความร่วมมือกันทุกรูปแบบ จะขยายขอบเขตความร่วมมือกัน บนฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน  จะเพิ่มช่องทาง โอกาส และทางเลือกให้ผู้เรียนมากขึ้น และพัฒนาต้นแบบการศึกษาสู่การศึกษาตลอดชีวิตให้มากขึ้น

ยังมีความเห็นจากวงเสวนาหลากหลาย แต่ก็มีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันคือ เป้าหมายของการจัดการศึกษาเป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมทำงาน มีทักษะจำเป็น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ วิธีการจัดการศึกษาจะต้องเปลี่ยน รวมทั้งผู้จัดการศึกษาก็ต้องเปลี่ยน-ปรับเปลี่ยนความคิดของผู้จัดการศึกษาเดิม และเพิ่มกลุ่มผู้จัด/ ส่งเสริมผู้จัดการศึกษาภาคเอกชน ชุมชนที่มีศักยภาพ โดยภาครัฐสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น ...ต่อไปนี้เป็นบางความเห็นที่สะท้อนจากเวทีการเสวนา
  • การศึกษาให้ค่าปริญญาที่ไม่มีความหมาย แข่งขายปริญญา แต่ไม่ขายความรู้, ครูมีวุฒิได้เงินเดือนสูง แต่ไม่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ดีขึ้น, ครูสอนอาชีพไม่รู้-ไม่ทันวิทยาการที่ก้าวหน้าและไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย จึงหวังที่จะสอนเด็กให้เท่าทันได้ยาก จึงคาดหวังกับภาคเอกชน ที่จะมี Corporate University 
  • ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถสนองความต้องการของสังคมได้ทั้งหมด เราคงจะไม่ไปแขวนคอ ศธ. เพราะเขาถูกต่อว่ามามากแล้ว
  • การศึกษาอยู่กับผู้จัด (supply side) มากไป ควรเปลี่ยนเป็น demand side
  • แต่เดิมตีค่าเด็กจากผู้ได้เกรดสูง ตีตราเด็กเกรดต่ำ เมื่อเด็กเรียนแบบ Work-based learning เด็กจะต้องพิสูจน์ตนเองจากการปฏิบัติจริง จะได้ฝึกความอดทน ซื่อสัตย์ ให้รู้หน้าที่ในการให้บริการ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีวันเริ่มแรกที่เด็กต้องทำงาน การเรียนเช่นนี้เป็นการฝึกความพร้อม ความอดทน
  • แต่ละคนมายืนอยู่ทุกวันนี้ ต้องถามตนเองว่า 100% ในความรู้ความสามารถปัจจุบัน เป็นผลหรือได้มาจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกี่เปอร์เซ็นต์ และเปอร์เซ็นต์ที่เป็นกล่องดำที่เหลือนั้นคืออะไร เป็นส่วนที่เรียนรู้จากที่ใด?
  • ไม่ควรอุ้มกระทรวงศึกษาธิการต่อ เพราะภาษีของประเทศจำนวนมากที่ทุ่มให้ใช้ในการพัฒนาการศึกษา บัดนี้ เห็นชัดเจนแล้วว่าไม่มีประสิทธิผล ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำ ดังนั้น จะเป็นไปได้ไหมที่จะแบ่งสัดส่วนทรัพยากรที่กระทรวงศึกษาธิการเคยได้ ไปให้กับองค์กรที่สามารถทำได้ดีและมีประสิทธิผลมากกว่า
  • ระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนมีหลายระดับ ทั้งระดับนโยบายมีคณะกรรมการร่วม ระดับปฏิบัติทำเป็น career technical education เชื่อมโยงอาชีพในมัธยมศึกษาตอนต้น มี industrial sector มาร่วมกำหนดทักษะที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียน  ระดับประเมินมีคณะกรรมการประเมินอย่างอิสระ มีตัวชี้วัดด้านผลกระทบที่ชัดเจน ระดับเครือข่ายมีการนำโปรแกรมการจัดการศึกษามาแลกเปลี่ยนกัน
  • ได้เห็นโครงการเตรียมคนเข้าสู่อาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นการสอนภาษาอังกฤษ จึงมีคำถามว่า ต่อให้ประชาชนเก่งภาษาอังกฤษเท่ากับชาวอังกฤษประชาชนและประเทศชาติของเราจะอยู่รอดไหม เราควรพัฒนาเตรียมคนของเราอย่างไรกันแน่ ดังนั้น การเข้า AEC ควรเตรียมโดยการทำวิจัยก่อนว่า AEC มีผลกระทบกับใครอย่างไรบ้าง มิใช่อะไรๆ ก็อบรมภาษาอังกฤษ ยังมีภาษาจีน ภาษาพม่า และอื่นๆ อีกที่จะเป็นสำหรับคนบางกลุ่มบางพื้นที่
  • ควรมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาไทย ให้มีอิสระ เหมือนก่อนหน้านี้มี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำหน้าที่วิจัยให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสาธารณสุข


จากการนั่งฟังการเสวนาในเวทีนี้ เห็นการเคลื่อนตัวของภาคเอกชนในการลุกขึ้นมาจัดการศึกษา และเป็นการจัดการศึกษาที่มาจากจิตวิญญาณของนักพัฒนา ทุกแห่งมีปรัชญาแนวคิดความเชื่อของการทำสถานศึกษาที่น่าทึ่งและน่าคารวะ การมีสถานศึกษาหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการ ข้อจำกัด ของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้มากเท่าไร ก็ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และผมเห็นว่าหน่วยงานองค์กรที่ให้ความสำคัญและจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเหล่านี้มีจำนวนมากพอ... มากพอที่จะต่อรองทรัพยากรจากรัฐ ให้หันมาสนับสนุนส่งเสริมสถานศึกษาที่นอกเหนือจากของภาครัฐ อย่างเป็นระบบ จริงจัง และชัดเจน โดยเฉพาะสัดส่วนของงบประมาณจากภาษีประชาชน.