หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

OBEC Channel

OBEC Channel: สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน*

พิทักษ์ โสตถยาคม**

               กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขัันพื้นฐาน หรือ OBEC Channel  เพื่อหารือแนวทางการช่วยสนับสนุนบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้สามารถดำเนินการผลิตรายการต่างๆ ได้ทันกับการใช้งานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2556  
               เท่าที่ผมดูข้อมูลย้อนหลังเห็นว่า ความรับผิดชอบของบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกอบด้วย การจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ส่ง-รับสัญญาณ TV ไปยังโรงเรียนปลายทาง, ผลิตสื่อการเรียนการสอนทุกวิชา, ควบคุมดูแลการถ่ายทอดสด และศูนย์สนับสนุนการเรียนการสอน (สพฐ.เปิดทีวีดาวเทียม...2556: ออนไลน์)  นอกจากนั้น จากข้อมูลใน hand out ที่แจกในที่การประชุมนี้ พบว่า บริษัทสามารถฯ ยัง "ไม่สามารถ" ผลิตสื่อเพื่อออกอากาศได้ครบถ้วนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กลุ่มสาระฯสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ยังผลิตไม่เสร็จ (0% ทั้งของภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 และที่จะใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556) (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน: 6-9) ซึ่งตามกำหนดจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556 นี้ 
แผนภาพ ร้อยละของสื่อที่ผลิตเสร็จ จำแนกตามระดับชั้นและภาคเรียน
               ประธาน (ผอ.สวก.) ได้บอกจุดมุ่งหมายของการหารือคือ ทำอย่างไรจะทำให้มีสื่อครบถ้วน และใครจะช่วยตรงใดได้บ้าง จึง list สิ่งที่ต้องทำขึ้นมาพิจารณา พร้อมขอให้ผู้แทนสำนักช่วยประสานการดำเนินงาน ดังนี้
  1. สทร.: ขอให้ดูกรอบการดำเนินการ และผังรายการ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 จากบริษัท สามารถฯ พร้อมทั้งจัดทำ/ปรับปรุงผังรายการให้เสร็จสมบูรณ์ 
  2. ศนฐ.: จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อใช้ถ่ายทำรายการ/ สื่อออกอากาศ 
  3. สวก.: แสวงหาครูสอนดี ครูเก่ง วิทยากร เพื่อสนับสนุนการถ่ายทำรายการ/ สื่อออกอากาศ
  4. สนก.: ประสาน Teacher TV (โทรทัศน์ครู) เพื่อนำตอนที่มีประโยชน์นำมาออกอากาศ โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้ครู
               สำหรับ การประสานงานของ สนก. ผมได้สอบถามอาจารย์ที่มีส่วนร่วมในทีมโทรทัศน์ครู ทราบว่า ขณะนี้ บริษัท pico (ผู้ผลิตรายการ) ได้ส่งมอบสื่อ/ รายการทั้งหมดให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมหาวิทยาลัยบูรพา (รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร) แล้ว หากเราจะดำเนินการใดๆ จะต้องติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งขณะนี้ผมได้ส่งอีเมลไปขอความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.มนตรี แล้วครับ หากได้รับการตอบกลับมาอย่างไร จะนำเสนอในที่ประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยนี้ ซึ่งนัดหารือกันนัดต่อไปวันที่ 21 มีนาคม 2556 เวลา 17.00 น. ณ ห้องประชุม สวก. ชั้น 4 โดยรองเลขาธิการ กพฐ. (ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า) เป็นประธานครับ
               ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ OBEC Channel ในส่วนของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ ซึ่งได้กำหนด Vision ของสถานีไว้ว่า สถานีโทรทัศน์ผู้นำด้านการจัดการเรียนการสอน มี Mission 3 ข้อคือ (1) ผลิตรายการตามหลักสูตรแกนกลางฯ (2) ให้ข่าวสารความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต (3) ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอน ส่วน Objective มี 2 ข้อคือ (1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาขนาดเล็ก/ ห่างไกล/ ขาดแคลนครู จำนวน 10,000 โรงเรียน (2) เพื่อเร่งปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน: 1-2) ซึ่งขณะนี้ออกอากาศได้เพียง 1 ช่อง หากสนใจเพิ่มเติม โปรดศึกษาที่เว็บไซต์ OBEC Channel ที่นี่ http://www.obectv.com/obec/

สะท้อนคิดจากการประชุม

  • การมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตนเองถือว่า เป็นช่องทางที่จะสื่อสารถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างดี แต่การเกิดขึ้น/ จัดให้มีขึ้นแล้วนี้ จะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นอีก หากมีการบริหารจัดการให้สามารถดำรงอยู่และสร้างประโยชน์ให้กับวงการศึกษาได้จริงๆ ถ้าเทียบกับสถานีโทรทัศน์ทั่วไป อย่างไทยพีบีเอสก็จะมีคณะกรรมการบริหารสถานี นายสถานีโทรทัศน์ ผู้อำนวยการสถานี ผู้ประกาศ/ ผู้สื่อข่าว ส่วนสถานีโทรทัศน์ NBT ก็มีผู้อำนวยการสถานี มีฝ่ายจัดและควบคุมรายการ ส่วนผลิตรายการ ส่วนเทคโนโลยี ฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายแผนงานและประสานงาน และกลุ่มงานวิชาการ ดังนั้น จะยกระดับให้เป็นทีวีที่เป็นผู้นำด้านการจัดการเรียนการสอนอย่างแท้จริง จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นการบริหารจัดการสถานีโทรทัศน์เป็นพิเศษ เพื่ออำนวยการและขับเคลื่อนทั้งระบบ ไม่เพียงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคประจำสถานีฯ รวม 15 คน และ Staff ของบริษัท สามารถฯ ดำเนินการกันไปเอง
  • ทันทีที่ได้ทราบว่ามีสถานีโทรทัศน์ของ สพฐ. ผมก็เห็นว่า จะดีมากเลย ถ้าสถานีนี้ได้เชื่อมโยงหรือร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์การศีกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม http://www.dlf.ac.th/index.php หรือโทรทัศน์ครู http://iptv-lms.uni.net.th/es_iptv/video.php เพราะต่างก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อโอกาสแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูและบุคลากรทางการศึกษาเช่นกัน หลังจากนั้น ผมได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า OBEC Channel  จะต้องเป็นผู้นำ และนำเสนอรายการที่แตกต่าง ดังนั้นจึงจะผลิตเอง โดยใช้ความสามารถของบริษัทสามารถฯ สุดท้าย ผมเสนอข้อมูลว่า โทรทัศน์ครูมีรายการที่ผลิตเสร็จแล้ว 3,600 รายการ และทราบว่าเขาพร้อมส่งสื่อ/รายการนี้ให้ หากมีผู้สนใจจะนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่ง สพฐ.ก็น่าประสานและคัดเลือกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับครู และเป็นส่วนหนึ่งของรายการที่จะออกอากาศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู 
  • การดำเนินการของบริษัทผลิตสื่อ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากเราจะสนับสนุนช่วยเหลือให้มีสื่อได้ครบดังที่มีการพูดคุยกันครั้งนี้และครั้งหน้า เราควรจะมีมาตรการใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ที่จะกำกับให้มีการดำเนินการตามกรอบที่ได้ตกลงกัน

รายการอ้างอิง
สพฐ.เปิดทีวีดาวเทียม OBEC Channel ยกระดับคุณภาพการศึกษา.  (2556, 28 มกราคม).    
           ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2556, จาก http://www.thairath.co.th/content/tech/323057
สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2556). สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  
           เอกสารประกอบการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. วันที่ 12 มีนาคม 2556 

_______________________________________
* การประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับการสนับสนุน OBEC Channel วันที่ 13 มีนาคม 2556 เวลา 14.00-15.30 น. ณ ห้องประชุม สวก. ชั้น 4 นำโดย ผอ.วีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และมีผู้แทนสำนัก (อาทิ สนก., สวก., ศนฐ., สทร., สนผ., สกบ.) รวมทั้งสิ้น 9 คน 
** นักวิชาการศึกษา สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.